Source: ‘พลังงาน’ บีบ ‘คลัง’ ลดภาษีดีเซล หวั่นกองทุนน้ำมันเริ่มจ่ายเงินกู้แสนล้าน
24 ก.ค. 2024 เวลา 6:30 น.
ครม.ไฟเขียว คุมเพดานขายดีเซล 33 บาท ถึง 31 ต.ค. ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท “พีระพันธุ์” ชี้กองทุนน้ำมันยังไหว ถก “คลัง” ลดภาษีช่วย ครม.ถกพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพิ่มแหล่งก๊าซ กดค่าไฟต่ำกว่า 4 บาท ด้านบัญชีกองทุนน้ำมันติดลบ 1.1 แสนล้าน ทยอยจ่ายเงินกู้ พ.ย.นี้
นโยบายการการดูแลราคาพลังงานเป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการทันทีที่เริ่มบริหารประเทศเมื่อเดือน ก.ย.2566 แต่ภาระการอุดหนุนที่สูงขึ้นต่อเนื่องทำให้รัฐบาลยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิตเบนซินและดีเซล และแม้ว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทรงตัวและราคาน้ำมันดิบดิบเวสต์เท็กซัสจะต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าดูแลราคาพลังงาน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนทั้งในส่วนของค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมันดีเซล ซึ่งเดิม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2567 กำหนดเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 33 บาท ต่อ ลิตร แต่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ก.ค.2567
โดยมาตรการต่อไปในส่วนของการดูแลราคาน้ำมันดีเซลรัฐบาลจะให้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาท ต่อ ลิตร แต่อัตราการชดเชยต้องไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมาย และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ในช่วงเวลา 4 เดือน (ก.ย.-ธ.ค.2567) ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าเดิม ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค. นี้ ประกอบด้วย
1.บริหารจัดการอัตราค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ให้อยู่ที่ระดับ 4.18 บาท ต่อ หน่วย
2.ตรึงอัตราค่าไฟฟ้า 4.18 บาท ต่อ หน่วย
3.ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ ต่อ หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย ต่อ เดือน
หารือคลังลดภาษีสรรพสามิตดีเซล
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ครม.รับทราบแนวทางการดูแลราคาดีเซล ซึ่งจะมีการกำหนดเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาตามที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะรับภาระได้
ทั้งนี้ จะตรึงเพดานที่ราคานี้ไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 หลังจากนั้นจะดูสถานการณ์และมาตรการที่จะดูแลราคาน้ำมันต่อเนื่อง โดยจะหารือกับกระทรวงการคลังที่อาจจะมีการใช้แนวทางการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเข้ามาเป็นมาตรการเสริม หรืออาจจะมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยตรึงราคาน้ำมันเพิ่มเติม
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า การใช้หนี้คืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้นในส่วนของค่าไฟที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เป็นการทยอยใช้หนี้ส่วนนี้คืนให้กับ กฟผ.อยู่แล้ว แต่เป็นการทยอยใช้คืนไม่ใช่การคืนหนี้ทั้งก้อนเป็นก้อนใหญ่ซึ่งจะกระทบกับค่าไฟแล้วประชาชนมาเป็นภาระกับประชาชน
สำหรับการแก้กฎหมายในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันจะเร่งจัดทำกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่ายังไม่ทันในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเสนอเข้ารัฐสภาตามขั้นตอนทางกฎหมายโดยเร็ว
ทั้งนี้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะประเทศอยู่แบบนี้มา 50 ปีแล้ว โดยไม่มีกฎหมายที่จะกำหนดราคาน้ำมันของรัฐบาลเลย ทั้งที่เรื่องนี้กระทบประชาชนอย่างมาก ซึ่งกฎหมายต้องดูไปถึงอำนาจของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยที่เดิมเคยมีอำนาจทั้งในการกำหนดดานราคาน้ำมัน และกำหนดสัดส่วนของการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูไปควบคู่กันไป
“เราอยู่กันมาแบบนี้นานกว่า 50 ปี พอน้ำมันแพงก็บ่นกัน แต่ข้อเท็จจริง คือ ราคาเนื้อน้ำมันจริงในประเทศ 20 กว่าบาทต่อลิตร เท่านั้น แต่องค์ประกอบราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบด้วยส่วนผสมของเอทานอลและไบโอดีเซล รวมทั้งมีภาษี เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันลิตรละ 5.99 บาท ราคาน้ำมันจึงมาอยู่ที่ 38-40 บาท ซึ่งหากมีกฎหมายเราก็จะดูแลราคาน้ำมันให้ประชาชนได้”
ครม.หารือแนวทางกดค่าไฟเหลือ3บาท
รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุม ครม.ได้หารือแนวทางการลดราคาค่าไฟลดมาให้อยู่ในระดับ 3 บาท เศษ ต่อหน่วยเช่นในอดีต ซึ่งได้หารือถึงขุมพลังงานใหม่
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในครม.ว่าไทยต้องเร่งเจรจากัมพูชาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ ซึ่งรัฐมนตรีใน ครม.ต่างแสดงความเห็นด้วยอย่างกว้างขวาง เพราะจะทำให้ได้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าและมีปริมาณมากที่ใช้ไปได้อีก 20 ปี
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเพียงหารือกันในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีวาระเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาในการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามานำเสนอ ครม.ในครั้งนี้
สำหรับการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่หน่วยละ 4.18 บาท กระทรวงพลังงานนำเสนอ ครม.ว่า ใช้วิธีให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันรับภาระเงินสะสมคงค้างสะสม สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2567 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลางก่อน
ส่วนการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าขอกลุ่มผู้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัย 300 หน่วยต่อเดือนที่ใช้ไม่เกิน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วย เหลือจ่าย 3.99 บาทต่อหน่วย คาดว่าจะมีค่าใช้จ่าย 1,900 ล้านบาท ในเบื้องต้นจะใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของปี 2567 จ่ายให้
ห่วงกองทุนน้ำมันเริ่มจ่ายเงินต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า จากการที่ ครม.รับทราบการตรึงราคาดีเซลต่ออีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 31 ต.ค.2567 จากปัจจุบันที่กระทรวงพลังงานครบกำหนดกรอบราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตรวันที่ 31 ก.ค.2567
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้นำเสนอ ครม.เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้คงที่ 33 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศไทยมีมากกว่า 70%
ทั้งนี้ จากแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกปัจจุบันแม้ยังผันผวนแต่ไม่ได้ปรับขึ้น โดยปัจจุบันสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เก็บเงินเข้าสู่บัญชีของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้บ้าง จึงทำให้ตอนนี้นายพีระพันธุ์ มองว่าควรตรึงราคาดีเซลออกไปต่ออีก เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนมากกว่านี้ในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
“แม้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเก็บเงินเข้ากองทุนได้บ้าง แต่ต้องควักจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ซึ่งการที่นายพีระพันธุ์ มองว่าจะตรึงถึงเดือน ต.ค.2567 เพราะว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายแค่ดอกเบี้ย แต่เดือน พ.ย.2567 เป็นช่วงปลายปีที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเหนื่อยอีก เพราะต้องเริ่มใช้หนี้เงินกู้ที่ปัจจุบันกู้รวม 105,333 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายหนี้ 5,000 ล้านบาท” แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือรัฐบาลจะต้องหาเงินมาช่วยตรึงราคาน้ำมันร่วมด้วย เพราะปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 14 ก.ค.2567 ติดลบที่ 111,855 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 64,252 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 47,603 ล้านบาท แม้สถานการณ์ตอนนี้ไม่ได้เพิ่มภาระอะไรให้กองทุนน้ำมันฯ แต่ก็อย่าลืมว่ายอดเงินติดลบยังมีกว่า 1 แสนล้านบาท
“ปัจจุบันราคาดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนสูง โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีแนวโน้มที่ลดลงบ้างจนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดอุดหนุนระดับ 4 บาทต่อลิตร และเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันสำเร็จ แต่อย่างที่บอก ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงผันผวน กองทุนน้ำมันยังคงต้องมีการทั้งควักจ่ายเฉลี่ยแล้วก็ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง” แหล่งข่าว กล่าว
ปิดทางใช้งบกลางดูแลราคาดีเซล
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้จะพิจารณาแนวทางปรับราคาดีเซลมาตลอด จากการพยายามดำเนินการอีก 2 แนวทาง เพื่อไม่ให้กระทบราคาขายปลีกดีเซล ประกอบด้วย
1. การส่งหนังสือถึงสำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบประมาณกลางปี 2567 วงเงิน 6,500 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วยเหลือราคาดีเซล 6,000 ล้านบาท และช่วยพยุงราคาก๊าซหุงต้ม (LPC) ภาคครัวเรือนอีก 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นไปตามที่ ครม.อนุมัติไว้ภายใต้เงื่อนไขให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาน้ำมัน และ LPG ไปก่อน แต่เบื้องต้นได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการว่า งบประมาณกลางมีจำกัด อาจไม่สามารถนำมาดูแลราคาดีเซล และ LPG ได้ ทำให้สถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับการขอใช้งบประมาณไม่น่าจะดำเนินการได้
2.การเสนอขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิตลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลลงในอัตราที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นจากท่าทีของกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้ตอบรับการว่าจะลดภาษีน้ำมันดังกล่าว ซึ่งต้องเข้าใจถึงจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บรายได้เข้ารัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด