สถานการณ์ในพม่ากับทุนพลังงานไทย

Source: สถานการณ์ในพม่ากับทุนพลังงานไทย

24 ก.ค. 67 สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

  • MOGE ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทางด้านพลังงานรายใหญ่ของพม่า ถูกสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา คว่ำบาตร บรรดาทรัพย์สินหรือธุรกรรมใดๆ หากถูกตรวจพบในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่กล่าวมานั้นจะถูกยึดหรือบล็อกเอาไว้
  • ก๊าซในอ่าวเมาะตะมะของพม่าจากแหล่งยาดานาและซอติกา ถูกส่งเข้ามาเพื่อป้อนให้กับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยวันละ 255 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของซัพพลายก๊าซของไทยในปัจจุบัน

ธุรกิจและการลงทุนของไทยกำลังถูกจับตามองจากนานาชาติ ว่ามีส่วนอย่างสำคัญในการส่งเสริมความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า เพราะรายได้จากกิจการหรือธุรกรรมเหล่านั้นไปหล่อเลี้ยงรัฐบาลทหาร กองทัพพม่า หรือมีส่วนโดยตรงในการอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาอุปกรณ์แห่งการเข่นฆ่ามนุษยชาติที่เป็นเพื่อนบ้านของไทยเอง

การรัฐประหารของ มิน อ่อง หล่าย เพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทำให้ประชาชนทั้งที่มีเชื้อสายพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พากันลุกฮือต่อต้าน จนปัจจุบันได้ขยายตัวลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปแล้ว

รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ความขัดแย้งและความรุนแรงในพม่าคราวนี้ ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,000 คน ผู้คนมากกว่า 3 ล้านคน ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่เดิม กลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และรัฐบาลทหารพม่าจับกุมคนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากตัวเองมากกว่า 20,000 คน

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติที่อยู่ข้างบ้านของไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด รัฐบาลทหารพม่าใช้จ่ายไปแล้วมากกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์มาเข่นฆ่าล้างผลาญประชาชนที่ได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของประเทศตัวเอง โดยที่เงินทองเหล่านี้ส่วนหนึ่งนั้นมาจากดอกผลของการลงทุนและการทำธุรกิจจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทย

บริษัทในเครือ ปตท. ลงทุนทางด้านพลังงานในพม่ามาตั้งแต่ปี 1989 หรือพูดอีกแง่หนึ่งก็เป็นเวลาไม่นานหลังเหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญในพม่าเมื่อ 35 ปีก่อนนั่นเอง

ความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นที่ทำให้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาก็เกิดจากการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านปิโตรเลียมจากตะวันตก คือ Total แห่งฝรั่งเศส และ Unocal ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Chevron แห่งสหรัฐฯ ได้ถอนการลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซในแหล่งยาดานา (Yadana) ในอ่าวเมาะตะมะ ทำให้ต้องกระจายหุ้นมาให้ผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ เป็นเหตุให้ ปตท.สผ. กลายเป็นผู้ถือหุ้น 63 เปอร์เซ็นต์ในแหล่งยาดานา ร่วมกับรัฐวิสาหกิจก๊าซและน้ำมันแห่งพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise: MOGE) ซึ่งถือในส่วนที่เหลือ 37 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังมีหุ้นในแหล่งซอติกา (Zawtika) 80 เปอร์เซ็นต์ และลงทุน 100 เปอร์เซ็นต์ในแหล่ง M3

ปัจจุบัน ก๊าซในอ่าวเมาะตะมะของพม่าจากแหล่งยาดานาและซอติกา ถูกส่งเข้ามาเพื่อป้อนให้กับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยวันละ 255 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ของซัพพลายก๊าซของไทยในปัจจุบัน (ทั้งนี้ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซที่ใช้ในประเทศไทยได้จากอ่าวไทย 30 เปอร์เซ็นต์เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG จากต่างประเทศ และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ได้จากแหล่งผลิตบนบกภายในประเทศ) ปตท. คำนวณว่าคนไทย 8 ล้านคนได้ประโยชน์จากก๊าซพม่า

นอกจากนี้บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด ได้ร่วมลงทุนถือหุ้น 35 เปอร์เซ็นต์ในบริษัท Brighter Energy (BE) ตั้งแต่ปี 2019 เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่ง คลังเก็บปิโตรเลียม ร่วมกับ Kanbawza Group หรือกลุ่มบริษัท KBZ ซึ่งถือหุ้น 35 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน และนักธุรกิจพม่าอีก 2 คน คือ กอง ซาน (Kaung San) และ มิน ขั่นต์ (Min Khant) ถือหุ้นคนละ 15 เปอร์เซ็นต์

เรื่องที่กลายเป็นประเด็นในเวลานี้คือ MOGE ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทางด้านพลังงานรายใหญ่ของพม่า ถูกสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา คว่ำบาตร บรรดาทรัพย์สินหรือธุรกรรมใดๆ หากถูกตรวจพบในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ที่กล่าวมานั้นจะถูกยึดหรือบล็อกเอาไว้

นอกจากนี้ บริษัท Myanmar Economic Corporation บริษัทธุรกิจของกองทัพพม่า ซึ่งให้บริษัท Brighter Energy เช่าที่ดินเพื่อสร้างคลังเก็บสินค้าในเมืองย่างกุ้ง ก็โดนคว่ำบาตรด้วย

การคว่ำบาตรอาจจะไม่ได้กระทำโดยตรงต่อบริษัทในเครือ ปตท. หรือประเทศไทย แต่มีผลกระทบโดยอ้อม ที่ก่อให้เกิดความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ การลงทุน และการทำธุรกรรมต่างๆ อยู่ไม่น้อย

ในเดือนธันวาคม 2022 กองทุนของนอร์เวย์แห่งหนึ่งประกาศทิ้งหุ้นของ ปตท. ด้วยเหตุผลที่ว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งมีความสัมพันธ์กับกองทัพพม่า ซึ่งได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การกระทำเช่นนั้นของกองทุนนอร์เวย์ดังกล่าว ทำให้ ปตท.โออาร์ ต้องตอบสนองด้วยการประกาศว่า จะหยุดการดำเนินการก่อสร้างคลังเก็บปิโตรเลียม โดยบริษัทโออาร์จะไม่ชำระเงินทุนเพิ่มเติม และ BE จะต้องไม่ชำระเงินให้แก่บุคคลใดๆ ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกคว่ำบาตรโดยเด็ดขาด ทั้งยังบอกว่า บริษัทได้ยึดถือและดำเนินการตามแนวทางและนโยบายอย่างเคร่งครัด ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Irrawaddy ของพม่ารายงานเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่า การก่อสร้างคลังปิโตรเลียมที่ว่านั้นไม่ได้หยุดลงแต่อย่างใด หากแต่เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2023 และพร้อมให้บริการถังเก็บน้ำมัน 15 ลูกที่เก็บน้ำมันดีเซลและเบนซินได้ 100 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ก๊าซหุงต้ม) อีก 4,500 ตัน

ปัจจุบัน ปตท.สผ. ยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ อีกทั้งรัฐบาลไทยในปัจจุบันคงจะไม่กดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานซึ่งภาครัฐถือหุ้นอยู่ด้วยนั้น จะต้องออกมาแสดงท่าทีใดๆ แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากผู้แทนราษฎร ชุมชนนานาชาติ และนักสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางก็ตาม

ประเทศไทยไม่มีตัวบทกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนนักเกี่ยวกับการทำธุรกิจอันเกี่ยวเนื่องกับปัญหาสิทธิมนุษยชน ลำพังแต่ถ้อยคำกว้างๆ ที่ปรากฏอยู่ในหมวด 5 ของหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 ไม่ได้ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีกลไกใดที่จะทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องนี้ได้อีกด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอ้างว่า ไม่มีกฎหมายใดที่จะควบคุมแนวปฏิบัติเรื่องสิทธิมนุษยชนของหน่วยธุรกิจ เพราะไม่ถือว่ามีฐานะเป็นรัฐที่คณะกรรมการจะต้องดูแล

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here