โรงงานชิ้นส่วนแห่ปิดกิจการ พิษยอดขายรถดิ่ง-เตะฝุ่นนับแสน

Source: โรงงานชิ้นส่วนแห่ปิดกิจการ พิษยอดขายรถดิ่ง-เตะฝุ่นนับแสน

วันที่ 27 กรกฎาคม 2567 – 07:02 น.

บริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภาคตะวันออกกระอัก ปิดกิจการแล้วกว่า 500 ราย พนักงานประจำ-พนักงานซับคอนแทร็กต์ ตกงานกว่า 1 แสนคน ส่วนที่ยังอยู่แห่ใช้ ม.75 ลดเวลาทำงาน-จ่ายเงินน้อยลง เปิดโครงการสมัครใจลาออก เหตุยอดผลิตรถตกต่ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยกระทบหนัก ขาดสภาพคล่อง สะสมปัญหาหลังโควิด เมืองชลวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ปรับลดเป้าผลิตรถปีนี้ลง 2 แสนคัน เหลือ 1.7 ล้านคัน เหตุยอดขายในประเทศวูบ

โรงงานภาคตะวันออกหนีตาย
นายมงคล ไตรพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก พื้นที่บ่อวิน รับผิดชอบดูแลแรงงานในจังหวัดชลบุรีและระยอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ปิดกิจการกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนของรถสันดาป ปิดกิจการลงเกือบ 50% หากนับรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ประมาณกว่า 500 แห่ง

โรงงานชิ้นส่วนแห่ปิดกิจการ พิษยอดขายรถดิ่ง-เตะฝุ่นนับแสน
สื่อจีนอวด ทุเรียนที่ปลูกเองในประเทศพร้อมส่งขาย-หนุนการฟื้นฟูชนบท
วันพระบรมราชสมภพ ในหลวงรัชกาลที่ 10
โดยเฉพาะบริษัทผลิตชิ้นส่วนของยานยนต์ (Tier-1) ที่ประกอบชิ้นส่วนยานยนต์จากวัตถุดิบ (Tier-2) และบริษัทที่ผลิตวัตถุดิบเพื่อประกอบเป็นชิ้นส่วนของยานยนต์ (Tier-3) ส่งผลให้มีพนักงานตกงานประมาณ 1 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งเป็นพนักงานประจำ ประมาณ 30% และพนักงานเหมาค่าแรง (Subcontractor) ซึ่งเป็นพนักงานชั่วคราว พนักงานรายวันตกงาน ประมาณ 70% ขณะเดียวกันมีบางโรงงานเปิดโครงการสมัครใจลาออก โดยจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนให้ เนื่องจากยอดการสั่งซื้อลดลงมาก

ทั้งปิดและลดเวลาทำงาน
ส่วนโรงงานที่ยังพอมีสภาพคล่องไปต่อได้ แต่ยอดการสั่งซื้อลดลง ต้องลดกำลังการผลิต มีการแจ้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ขอใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยให้เหตุผลถึงความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว บางโรงงานลดวันทำงาน โดยจ่ายเงินค่าจ้างเพียง 75% ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ

“กรณีการใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 บางครั้งโรงงานยังมีผลประกอบการ แต่ผู้ประกอบการอาศัยกฎหมายที่เปิดช่องให้ทำได้ เพื่อลดภาระต้นทุน ขณะที่บางโรงงานมีความจำเป็น เพื่อประคองธุรกิจไว้ อาจจะให้พนักงานหยุดทำงานวันศุกร์ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่มีเข้ามา บริษัทจะได้บริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกัน” นายมงคลกล่าวและว่า สาเหตุเนื่องจากยอดการส่งออกรถยนต์ลดจำนวนลง ยอดขายภายในประเทศลดลง จากผู้บริโภคหันมาซื้อรถไฟฟ้า (EV) มากขึ้น และต้นทุนพลังงานต่าง ๆ ปรับสูงขึ้น ลดคนจ่าย

พนักงานซับฯรับเคราะห์
นายมงคลกล่าวต่อไปว่า พนักงานที่ตกงานตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นพนักงานซับคอนแทร็กต์ ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ใช้วิธีการจ้างพนักงานซับคอนแทร็กต์ ไม่จ้างพนักงานประจำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ เวลาโรงงานหรือบริษัทปิดกิจการไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินก้อนชดเชย และตอนนี้หางานใหม่ยาก เพราะหลายธุรกิจซบเซา ทั้งนี้ ตัวเลขที่สหภาพรวบรวมมาจากลูกจ้างซับคอนแทร็กต์ ซึ่งได้รับผลกระทบ แต่ตัวบริษัทซับคอนแทร็กต์ไม่ได้ประกาศปิดกิจการ ทำให้ไม่มีตัวเลขในรายงานของทางราชการ รวมถึงตัวเลขคนตกงานด้วย

SMEs ขาดสภาพคล่องหนัก
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีข่าวว่าบริษัท ไทยแอโรว์ จำกัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ผลิตชิ้นส่วนประกอบของชุดสายไฟในรถยนต์ เปิดโครงการสมัครใจลาออก โดยจ่ายเงินชดเชยให้ 38 เดือน เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทประกอบรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย ลดกำลังการผลิตลงจำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลง

ตอนนี้ผู้ประกอบการบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่อยู่ในธุรกิจรถสันดาป ทั้ง Tier-1, Tier-2 และ Tier-3 ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า บางรายถูกบริษัทลดยอดการผลิต บางรายผลิตแล้ว แต่บริษัทชะลอรับซื้อ โดยตกลงจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ต่ำกว่าต้นทุนที่ผู้ประกอบการรายย่อยลงทุนไปมาก ส่งผลให้บริษัทขาดสภาพคล่องไม่มีเงินมาหมุนเวียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) ในระดับ Tier-3

“บางรายไปขอกู้เงินแบงก์ ทางแบงก์ก็บอกผลประกอบการขาดทุน ปล่อยกู้ให้ไม่ได้ มีบางแบงก์แนะนำให้กู้ในนามบุคคลแทนจะใช้บริษัทกู้ บางรายดิ้นไปกู้เงินนอกระบบ หนี้สินพัวพันกันไปหมด เพราะยอดขายลดลง ตอนนี้แต่ละรายต้องพยายามปรับตัว อาจเปลี่ยนไปผลิตสินค้าป้อนไปยังธุรกิจอื่นเพื่อความอยู่รอด” แหล่งข่าวกล่าว

ขอเลิกกิจการกว่า 1.8 พันแห่ง
นายเฉลิมพล เนียมสกุล แรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันจังหวัดชลบุรีมีสถานประกอบการ จำนวน 19,372 แห่ง สถานการณ์การปิดกิจการในจังหวัดชลบุรีช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก มีกิจการขนาดใหญ่มีเพียงส่วนน้อย รวมถึงมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ปิดกิจการ แต่ต้องการลดจำนวนพนักงานลง เพราะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเข้ามาทดแทนแรงงานคน โดยเป็นการเลิกจ้างพนักงานซับคอนแทร็กต์

อุตสาหกรรมจังหวัดรายงานประเภทอุตสาหกรรมที่เลิกกิจการในจังหวัดชลบุรี ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 มีทั้งสิ้น 1,871 แห่ง มีลูกจ้างประจำถูกเลิกจ้างรวมทั้งหมด 8,088 คน ประกอบด้วย ธุรกิจก่อสร้าง, ธุรกิจเกษตร ประมง, ธุรกิจการผลิต, ธุรกิจขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ ธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่น ๆ

ขณะเดียวกันมีสถานประกอบการขอหยุดกิจการชั่วคราว โดยใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ช่วงเดือนมกราคม-กรกฎมคม 2567 จำนวน 70 แห่ง จำนวน 2,300 วัน จำนวนลูกจ้าง 20,467 คน

ผู้ว่าฯชลบุรีเร่งปรับแผนเศรษฐกิจ
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกของจังหวัด ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในปีนี้ตั้งไว้ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท เพราะในช่วง 6 เดือนแรก ในภาคอุตสาหกรรม มีผลกระทบเป็นอย่างมาก คาดการณ์ว่าจะลดลงมากกว่าร้อยละ 15 ภาคการเกษตรผลผลิตลดลง เนื่องด้วยภาวะโลกร้อน ส่วนภาคการบริการและการท่องเที่ยว มีการกระตุ้นเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 19 ดังนั้น ทางจังหวัดทบทวนนโยบายแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด มีหลายประเด็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อกระตุ้นการทำงาน รวมถึงต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัด

ช่วง 6 เดือนแรก มีโรงงานปิดตัวลงมากกว่า 400 โรงงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 8,000 ล้านบาท และมีอัตราการว่างงานมากกว่า 7,000 อัตรา บริษัทที่เป็นซับคอนแทร็กต์ยังมีการดำเนินกิจการ แต่พนักงานถูกเลิกจ้างแบบไม่มีค่าตอบแทน เพราะเป็นลูกจ้างแบบสัญญาจ้างชั่วคราว เช่น วงการรถยนต์สันดาปในประเทศไทย ที่ลดกำลังการผลิต และย้ายฐานการผลิต และขาดสภาพคล่อง

อุตฯยานยนต์ลดเป้าการผลิต
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปรับตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิกกลุ่มยานยนต์ในปี พ.ศ. 2567 ลงจากเดิม ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ไว้ 1.9 ล้านคัน เหลือทั้งปีเพียง 1.7 ล้านคัน หรือลดลงไป 2 แสนคัน โดยตัวเลขการผลิตรถยนต์ครึ่งปีแรกทำได้ 7.6 แสนคัน แบ่งสัดส่วนเป็นส่งออกสูงถึง 68% ขายในประเทศ 32% ซึ่งผิดไปจากปกติที่ส่งออกกับขายในประเทศจะห่างกันไม่มาก ประมาณ 54% กับ 46% ตามลำดับ

ส่วนยอดขายรถยนต์ 6 เดือนแรก ทำได้เพียง 308,027 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 24.16% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง (ICE) 82,660 คัน ลดลง 36.45%, รถยนต์นั่ง (BEV) 33,508 คัน เพิ่มขึ้น 6.91%, รถยนต์นั่ง (PHEV) 1,203 คัน ลดลง 8.93%, รถยนต์นั่ง (HEV) 67,110 คัน เพิ่มขึ้น 69.64%, รถกระบะ 1 ตัน 89,581 คัน ลดลง 40.15%, รถ PPV 18,856 คัน ลดลง 43.32%, รถบรรทุก 5-10 ตัน 8,339 คัน ลดลง 36.47% และรถประเภทอื่น ๆ 6,770 คัน ลดลง 12.70%

ชิ้นส่วนชี้ปัญหาจากปิกอัพ
นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อรองรับตลาดรถปิกอัพขนาด 1 ตันเป็นหลัก มีน้อยรายที่จะเป็นการผลิตเพื่อรองรับกับตลาดรถยนต์นั่งเพียงอย่างเดียว ดังนั้นประเด็นที่หลายคนมองว่าการเข้ามาของรถอีวีนั้น ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมนั้น แท้ที่จริงแล้ว ตลาดที่ได้ผลกระทบกลุ่มรถยนต์นั่งเท่านั้น

แต่สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน หลัก ๆ เป็นผลกระทบหนี้สินภาคครัวเรือนสูง ไฟแนนซ์เข้มงวดปล่อยกู้ ทำให้ยอดผลิตรถปิกอัพลดลงไป 20-30% ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดกำลังแรงงานในส่วนของพนักงานรับจ้างชั่วคราวหรือซับคอนแทร็กต์ลงบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้กำลังการผลิต

รายเล็กกระอักตั้งแต่โควิด
“สถานการณ์นี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เป็นเวลา 12 เดือนต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะ Tier-3 , Tier-4 ที่เป็น SMEs หรือ Micro-SMEs ที่เริ่มขาดสภาพคล่อง จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ประสบปัญหาตั้งแต่ตอนโควิด อีกทั้งหลังโควิดปีที่แล้ว สถาบันการเงินและภาครัฐ ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่บ้าง แต่ปีนี้ถือว่าออกจากโควิดเต็มตัวแล้ว ผู้ประกอบการต้องพึ่งตัวเองเต็มตัว บวกกับกระแสดิสรัปต์เทคโนโลยี เศรษฐกิจชะลอตัว SMEs ที่ไม่เข้มแข็งก็อาจจะเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะสถานการณ์น่าจะยังไม่ดีขึ้นในเวลาอันใกล้นี้” นายสุพจน์กล่าว

ค่ายญี่ปุ่นยื้อไม่ไหว-ถอนทัพ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ค่ายรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น 2 ราย คือ ซูบารุและซูซูกิ ประกาศถอนการลงทุนในส่วนของโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายและทำตลาดในประเทศไทยแทน โดยซูบารุจะยุติการผลิตโรงงานในประเทศไทยในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 ส่วนซูซูกิประกาศยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานประเทศไทยในช่วงปลายปี 2568

ขณะที่ค่ายรถยนต์ฮอนด้า ปรับแผนผลิตรถยนต์ 2 โรงงานในประเทศไทยใหม่ เพื่อปูทางสู่ตลาดรถยนต์ xEV โดยย้ายไลน์ผลิตรถยนต์ จ.พระนครศรีอยุธยา ไปรวมที่โรงงาน จ.ปราจีนบุรีทั้งหมด เพื่อปฏิรูปฟังก์ชั่นสายการผลิตรถยนต์ของไทย เพื่อดำเนินการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินการผลิตรถยนต์สำเร็จรูป รวมถึงการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ xEV อย่างต่อเนื่อง ส่วนโรงงานที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แทน… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/local-economy/news-1616988

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here