ตลาดรถทรุดเหลือแค่ 6 แสนคัน ดีลเลอร์แห่ปิดตัว-ย้ายขาย EV

Source: ตลาดรถทรุดเหลือแค่ 6 แสนคัน ดีลเลอร์แห่ปิดตัว-ย้ายขาย EV

วันที่ 9 ตุลาคม 2567 – 07:22 น.

ตลาดรถยนต์หดตัวหนัก ดีลเลอร์ขายรถทั้งญี่ปุ่น-จีน ถอดใจแห่เลิกกิจการ เผยตัวเลขแค่ปีเศษ ๆ สวิตช์แบรนด์-ปิดโชว์รูมหายไปแล้วเกือบ 100 แห่ง ชี้ไตรมาสสุดท้ายต้องดิ้นสุดตัว คาดทั้งปียอดขายรวมไปไม่ถึง 6 แสนคัน น้ำท่วมดึงลูกค้าชะลอซื้อรถ ด้านแบงก์เปิดตัวเลขสินเชื่อ “ฟลอร์แพลน” หดตัวหนัก

ตลาดรถยนต์ซึ่งได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของ GDP ประเทศ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง ประชาชนมีรายได้ต่ำลง ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ภาคเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตและสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้เชื่อว่าตลาดรถยนต์ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้เดือดแน่

ลุ้นขายทั้งปี 6 แสนคัน
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หอการค้าญี่ปุ่น หรือเจโทร เปิดเผยยอดขายรถยนต์ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2567) ที่ผ่านมายังน่ากังวลมาก มียอดขายทั้งสิ้นแค่ 438,763 คัน ลดลงไปราวๆ 25% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเฉพาะเดือนกันยายนมียอดขาย 39,152 คัน ลดลงจากกันยายนปีที่แล้วมากกว่า 30% ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ตลอดปี 2567 อาจจะอยู่ที่ระดับ 600,000 คันเท่านั้น

ซึ่งหมายความว่าทั้งไตรมาสสุดท้ายซึ่งถือเป็นช่วงไฮซีซั่นและมีอีเวนต์ใหญ่ขายรถ “มอเตอร์เอ็กซ์โป” รวมอยู่ด้วย ทุกยี่ห้อต้องทำตัวเลขสะสมให้ได้ไม่น้อยกว่า 150,000 คัน ซึ่งดูแล้วค่อนข้างยาก ด้วยปัจจับลบที่รุมเร้ามากมาย โดยเฉพาะผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลด้านจิตวิทยาทั้งความต้องการซื้อรถคันใหม่ ประกอบกับสถานการ์เศรษฐกิจโดยรวมส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องยืดเวลาในการตัดสินใจซื้อยาวออกไป

แห่เลิกกิจการเพียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลพวงจากภาวะการขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข่งขันในตลาดยังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในกลุ่มรถสันดาปเจอแรงกระแทกหลายด้านพร้อม ๆ กัน อาทิ แบรนด์ญี่ปุ่นด้วยกันเอง ยังมีรถ EV จากจีน ซึ่งระยะหลังถล่มราคากันหนักข้อ ทำให้รถ EV หลายรุ่นมีราคาขายต่ำกว่ารถสันดาป

ส่งผลให้ดีลเลอร์ค่ายญี่ปุ่นหลายแบรนด์แบกภาระขาดทุนไม่ไหวต้องปรับตัวกันอุตลุด เริ่มจากการปรับเปลี่ยนสถานะตัวเอง ลดสเกลการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะต้นทุนการบริหารจัดการ และต้นทุนดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมมาเพื่อสต๊อกรถ ซึ่งในช่วงตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้มีกระแสผู้ประกอบการหลาย ๆ แบรนด์ตัดสินใจเลิกกิจการ หรือไม่ก็ยอมเปลี่ยนไปขายแบรนด์ใหม่โดยเฉพาะแบรนด์รถจีนเยอะมาก

“หากจะมองผลกระทบการเปลี่ยนแบรนด์ของผู้ประกอบการครั้งนี้ กลุ่มรถยนต์ที่เป็นเทียร์ 1 อย่าง โตโยต้า, ฮอนด้า, อีซูซุ นั้นไม่ปรากฏมากนัก อาจจะมีเพียงยุบ ลด เลิก บางโชว์รูมเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเทียร์ต่ำ ๆ ลงมาจะมีให้เห็นจำนวนมาก เรียกว่ารถยนต์ในตลาดบ้านเราซึ่งมีมากกว่า 40 แบรนด์ ตอนนี้ทั้งที่เลิกกิจการไปแล้วรวมกับเป้าหมายที่บริษัทแม่เตรียมจะขยายเพิ่มไว้เดิม แต่ดีลเลอร์ไม่พร้อมลงทุน คิดเป็นตัวเลขกลม ๆ น่าจะใกล้เคียงหลักร้อย”

สวิตช์แบรนด์ฝุ่นตลบ
นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาการปรับลดจำนวนสาขาของบรรดาดีลเลอร์มีให้เห็นมากขึ้น คือลดแบรนด์ที่เคยทำตลาดอยู่เดิม ไปทำแบรนด์ใหม่ ๆ แทน เช่น ของตนเองกลุ่มแอทยูไนเต็ด ตอนนี้ปรับลดสาขาโตโยต้าแล้วตั้งบริษัทใหม่ เพื่อเป็นดิสทริบิวเตอร์รถ EV แบรนด์ดีพอล ของฉางอาน

และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนขายรถยนต์พรีเมี่ยมแบรนด์ AVATR ใช้เงินลงทุนกว่า 60 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ AVATR 2 สาขา คือ สาขาแอท ยู พาร์ค บางนา (att U park Bangna) ถ.บางนา-ตราด เป็นโชว์รูมแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดตัวในเดือนกันยายน และอีกหนึ่งสาขา คือ สาขาพระราม 6 ในเดือนธันวาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อย่างกลุ่มฮอนด้า พระราม 3 ตอนนี้ขยับเป็นตัวแทนขายเกรท วอลล์ มอเตอร์, ดีพอล และกำลังจะเป็นตัวแทนรถ EV แบรนด์ใหม่ ลีป มอเตอร์ ขณะที่กลุ่มเกรท วอลล์ พระราม 5 ซึ่งเป็นกลุ่มทุนแรก ๆ ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของเกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ประกาศยุติการดำเนินธุรกิจทั้งหมด

โดยล่าสุดมีรายงานว่าจะเปลี่ยนไปทำแบรนด์เอ็กซ์เผิง นอกจากนี้ยังมีแบรนด์รถญี่ปุ่น ทั้งมาสด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ ก็มีข่าวออกมาเป็นระยะถึงการลด เลิกโชว์รูม เช่น มาสด้าของกลุ่มพระนครยนตรการย่านอุดมสุข ก็ปรับไปเป็นแบรนด์โอมาดะ ส่วนต่างจังหวัดก็มีทั้งมาสด้าจ.ยะลา และมาสด้า จ.สตูล ที่ปิดโชว์รูมเลิกขายไป

“ต้องยอมรับว่ามีหลาย ๆ รายที่ขาดสภาพคล่อง เพราะช่วงแรกของการเข้ามาดำเนินธุรกิจอาจจะได้ยอดเป็นกอบเป็นกำ แต่พอตลาดชะลอตัว ต้องแบกรับต้นทุนต่าง ๆ เยอะ ในที่สุดก็ขาดสภาพคล่อง”

เกรท วอลล์ ยันไม่ม้วนเสื่อ
ประเด็นแบรนด์ เกรท วอลล์ ยอดขายร่วงรุนแรง ช่วงหลังขายเดือนละหลักร้อยจนมีกระแสข่าวว่าจะม้วนเสื่อ ประเด็นนี้ นายไมเคิล ฉง กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาครบ 3 ปีเต็ม และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 เรามุ่งมั่นตั้งใจกับการนำผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพมาสู่ผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง และขอยืนยันว่า การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยจะยังคงดำเนินต่อไปด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่ง ทั้งด้านการขายและบริการหลังการขาย

แม้ยอดขายจะชะลอตัวลง และมีพาร์ตเนอร์ สโตร์ที่เปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของกลไกตลาดและสภาวะการแข่งขันในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการเข้ามาของค่ายรถยนต์ที่มีมากมายในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม เกรท วอลล์ยังคงเดินหน้าในการขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายในการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไปในระยะยาว รวมถึงเชื่อมั่นในศักยภาพของตลาดประเทศไทยและผู้บริโภคชาวไทย

ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหานักลงทุนเพิ่มเติม และยังมี Partner Store ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2567 ได้แก่ เกรท วอลล์ไลฟ์ นนทบุรี, เกรท วอลล์ จีที ออโต้ พัฒนาการ, เกรท วอลล์ มหานคร พหลโยธิน กม.25, เกรท วอลล์ เอก อารีย์, เกรท วอลล์ บางกอก ถนนจันทน์, เกรท วอลล์ คาร์แมน วงศ์สว่าง, เกรท วอลล์ ฑีฆ อุดรธานี, เกรท วอลล์ อนุภาษ ภูเก็ต กะทู้, เกรท วอลล์ วายเอเอส ยะลา, เกรท วอลล์ ระยอง ปลวกแดง และ เกรท วอลล์ ชูเกียรติ สงขลา

เอ็มจี รักษาระดับ 150 โชว์รูม
ด้ายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับ เอ็มจี มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในวันที่เริ่มต้นเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทย แบรนด์ญี่ปุ่นมีความแข็งแรงมาก มีดีลเลอร์ 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ซึ่งมีความแข็งแรงทางด้านการเงิน และกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ที่อาจจะไม่มีความแข็งแรง และยังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดและยอดขายลดลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ได้รับผลกระทบบ้าง และมีดีลเลอร์ที่ปรับตัวไม่ได้ถอดใจไป รวมถึงดีลเลอร์หน้าใหม่ก็มีถอดใจไปเยอะ ที่ผ่านมา เอ็มจี มีดีลเลอร์เข้า-ออกบ้าง และปัจจุบันมีโชว์รูมเฉลี่ยอยู่ที่ 150 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ อาจจะมีเข้า-ออกบ้าง แต่เราจะพยายามรักษาให้อยู่ในระดับนี้

ซูซูกิเร่งเสริมแกร่งดีลเลอร์
ก่อนหน้านี้ นายทาดาโอะมิ ซูซูกิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ซูซูกิไทยแลนด์ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อไปอย่างมั่นคง จึงเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจให้พร้อมรองรับต่อการแข่งขันในอนาคต ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ “Enhancing the Ability to Compete in the Upcoming Automotive Market เพิ่มขีดความสามารถสู่การแข่งขันในอนาคต” โดยซูซูกิมีแผนจะเพิ่มในส่วนการขยายงานบริการศูนย์ซ่อมตัวถังและสีมาตรฐานซูซูกิ เพิ่มอีกจำนวน 8 แห่ง เป้าหมายภายในปี 2567 จะต้องมีศูนย์ซ่อมตัวถังและสีจำนวน 40 แห่งทั่วประเทศ

ในส่วนของโชว์รูมและศูนย์บริการ ปัจจุบันมีดีลเลอร์เปิดศูนย์บริการเพิ่มอีก 6 แห่ง ส่งผลให้มีจำนวนศูนย์บริการเพิ่มเป็น 98 แห่ง ในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจของซูซูกิ และรองรับลูกค้าด้วยบริการ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกได้อย่างทันท่วงที พร้อมส่งมอบบริการและประสบการณ์การใช้บริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าทุกท่านได้อย่างครบครัน และยืนยันว่า เตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ในปีหน้าสองรุ่น

นิสสันรับลดขนาดโชว์รูม
นายโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และอาเซียน ได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า นิสสันกำลังทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนผู้จำหน่าย และหนึ่งในจุดแข็งของเราคือ เรามี UIO (Unit in Operation) ที่แข็งแกร่ง เพื่อสนับสนุนบริการหลังการขายซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้จำหน่ายมากกว่าการขายรถยนต์ และนิสสันยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้จำหน่ายอีกด้วย ปีที่ผ่านมานิสสันมีโชว์รูมและศูนย์บริการอยู่ที่ 161 แห่ง ขณะที่ปีนี้เหลือ 141 แห่ง

“วันนี้ดีลเลอร์ที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ได้ปิด แต่อาจจะมีบางรายที่ลดขนาดลงไปบ้าง แต่เป็นหนึ่งในแผนงานหลักที่ต้องการสร้างความแข็งแรงให้กับดีลเลอร์ นิสสันมองว่าปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่มีตัวสินค้า แต่อยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า นิสสันอยู่ในประเทศไทยมาถึง 71 ปี นิสสันมีความสุขที่ได้รับใช้สังคมไทย และจะยังคงอยู่ที่ประเทศไทย แน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา มีทั้งเวลาที่ดีและไม่ดี แต่นิสสันยังยืนยันว่าจะอยู่ที่ไทย และหวังว่าคนไทยจะยังมีความสุขที่ได้ขับรถนิสสัน”

แบงก์รับปล่อยกู้ดีลเลอร์รถยนต์ฝืด
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (FloorPlan) ในปีนี้ ยอมรับว่า สินเชื่อหดตัวติดลบ สอดคล้องตามยอดขายรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อที่ติดลบเช่นกัน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น่าจะเหมือนกันทั้งระบบ โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ เนื่องจากผู้ประกอบการลดน้อยลงและมีหนี้เสียมากขึ้น

ทั้งนี้ สินเชื่อ FloorPlan หดตัว ส่วนหนึ่งมาจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง ซึ่งมาจากผู้ที่ต้องการซื้อรถชะลอการตัดสินใจซื้อ และผู้ให้สินเชื่อมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงกดดันยอดขายรถยนต์ลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการผู้แทนจำหน่ายรถยนต์จึงสต๊อกรถยนต์หรือสินค้าลดลง ทำให้ความต้องการวงเงินสินเชื่อปรับลดลงตามภาวะตลาดโดยรวม

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์จะไม่เหมือนกับการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ซึ่งการพิจารณาวงเงินการปล่อยสินเชื่อจะขึ้นอยู่กับหลักประกัน และการคาดการณ์ยอดขายรถในระยะข้างหน้า และราคาหรืออัตราดอกเบี้ยที่คิดจะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละราย หรือดีลเลอร์มีการย้ายแบรนด์รถยนต์หรือสินค้าใหม่ อาจจะใช้วงเงินเดิมกับธนาคารเดิมได้ หรือแบรนด์ใหม่อาจจะกำหนดการใช้วงเงินกับสถาบันการเงินใหม่ได้เช่นกัน ซึ่งอยู่กับแบรนด์หรือค่ายรถยนต์นั้น

“สินเชื่อ FloorPlan แน่นอนต้องหดตัวติดลบตามยอดขายรถยนต์ทั้งตลาด เพราะผู้ประกอบการเองคงไม่ได้สต๊อกสินค้าเหมือนกัน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลอยู่แล้ว เพราะสินค้าขายได้น้อยลง มีสต๊อกสินค้าเหลืออยู่ ซึ่งวิธีการช่วยเราก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้ากันไป”… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/motoring/news-1670221

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here