แห่ซื้อหุ้นคืนสู้วิกฤตราคาดิ่ง โลกป่วนธุรกิจชะลอลงทุน-เงินสดล้น

Source: แห่ซื้อหุ้นคืนสู้วิกฤตราคาดิ่ง โลกป่วนธุรกิจชะลอลงทุน-เงินสดล้น

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 – 11:03 น.

อัพเดตล่าสุด 5 ก.พ. 2568 เวลา 11.03 น.
บจ.ใหญ่แห่ประกาศ “ซื้อหุ้นคืน” บริหารสภาพคล่อง-แก้วิกฤตราคาหุ้นดิ่ง บล.หยวนต้า เผย ปัจจัยเสี่ยงความไม่แน่นอนสงครามการค้าทรัมป์ 2.0 กดดันชะลอการลงทุนใหม่ “เงินสดเต็มมือ” ตัวเร่ง บจ.ซื้อหุ้นคืน เอเซียพลัสชี้ปี’68 บริษัทแห่ซื้อคืนสถิติสูงสุด เปิดข้อมูล บจ. 422 แห่ง 60% ของบริษัทใน SET ราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลู บล.กรุงศรีลุ้น 8 หุ้นบิ๊กแคปกลุ่มพลังงาน-ธนาคาร-ปิโตรฯ มีโอกาสเปิดโครงการซื้อหุ้นคืน ตลท.หนุนเครื่องมือช่วยธุรกิจฟื้นตัว

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เร่งประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เริ่มเห็นเทรนด์นี้มาตั้งแต่ปี 2567 แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลาง ๆ

โดยปี 2568 คาดว่ามีโอกาสจะเห็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จะเร่งซื้อหุ้นคืนกันมากขึ้น โดยถูกกระตุ้นจากที่ บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนด้วยวงเงิน 21,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568 ไปจนถึงปี 2570 โดยจะเริ่มซื้อหุ้นคืนครั้งแรกด้วยวงเงิน 7,000 ล้านบาท จำนวนหุ้นไม่เกิน 3,500 ล้านหุ้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.-1 ส.ค. 2568

ทรัมป์ป่วนธุรกิจไม่ลงทุนใหม่
นายณัฐพลกล่าวว่า จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจทำให้บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าตัดสินใจลงทุนใหม่ จึงทำให้จะมีกระแสเงินสดเหลืออยู่ภายในบริษัทค่อนข้างมาก ดังนั้นหากต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นก็สามารถจ่ายคืนในรูปเงินปันผล หรือประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีเงินสดเหลืออยู่มาก ๆ

โดยข้อดีของการซื้อหุ้นคืนก็คือ เป็นการลดจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายในตลาดและทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ และถือเป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนในตลาดทราบว่าตอนนี้ราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมากเกินไปจากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดี และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วย นอกจากนั้นการซื้อหุ้นคืนยังส่งผลให้กำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นได้

“หุ้นไทยต้องยอมรับว่า ROE เป็นจุดอ่อน เพราะค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบตลาดหุ้นอื่น ๆ” นายณัฐพลกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน จากที่มีเงินสดในมืออยู่ค่อนข้างมาก และราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) อยู่ค่อนข้างมากนั้น ประกอบด้วย 1.บมจ.บีซีพีจี (BCPG) และ 2.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) 3.บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) 4.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ขณะที่บริษัทขนาดเล็ก อาทิ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) และ บมจ.เบริล 8 พลัส (BE8)

แห่ซื้อหุ้นคืนทำสถิติ
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถิติการประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนไทย ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา (2543-2568) พบว่าในปี 2567 มีการซื้อหุ้นคืนสูงสุดเป็นอันดับ 2 โดยมีทั้งหมด 22 บริษัท จำนวน 1,441 ทรานแซกชั่น มูลค่าที่ซื้อหุ้นคืน 12,964 ล้านบาท รองจากปี 2563 (ช่วงโควิด) ที่มีมูลค่าการซื้อหุ้นคืน 22,671 ล้านบาท ส่วนปี 2568 คาดว่ามีโอกาสจะเห็นมูลค่าการซื้อหุ้นที่มากกว่าปี 2567 เพราะ TTB รายเดียวก็มีมูลค่า 7 พันล้านบาทแล้ว

“ปีที่มีการประกาศซื้อหุ้นคืนมากนั้นจะเป็นปีที่เกิดวิกฤต ด้วยสภาพเศรษฐกิจไม่ดี และมีปัจจัยเสี่ยงกดดันเยอะ และตลาดหุ้นลงหนักเกินไป ทำให้ธุรกิจที่มีเงินสดในมือมาก ๆ และยังไม่กล้าลงทุนใหม่ ก็อาจใช้จังหวะนี้มาซื้อหุ้นคืน เพราะด้วย Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ค่อนข้างถูก จากเมื่อปี 2567 SET Index เฉลี่ยอยู่ที่บริเวณ 1,400-1,500 จุด ขณะที่เปิดต้นปี 2568 อยู่ที่ 1,300 จุด” นายภราดรกล่าว

ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นวัฏจักร ซึ่งกำไรจะมีความผันผวน ถ้าพิจารณาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อยอดขาย (P/S) ปกติเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 1.04 เท่า แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 0.88 เท่า ก็สะท้อนว่าในมุม Valuation ตลาดถูกกว่าทั้งปีที่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าปีนี้มีโอกาสจะเห็นการซื้อหุ้นคืนที่มากขึ้น

หุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลู 422 บริษัท
นายภราดรกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยเฉพาะหุ้นในดัชนี SET100 ที่มีราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ถึง 40 บริษัท และหุ้นในดัชนี SET ทั้งหมด 705 บริษัท มีหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 422 บริษัท หรือคิดเป็น 60% ของบริษัทใน SET ก็เชื่อว่าบริษัทที่มีเงินสดเหลืออยู่มาก มีโอกาสจะเห็นการซื้อหุ้นคืนเพิ่มเติมมากขึ้น ประกอบกับด้วย Valuation ที่ถูกอาจจะจูงใจให้นักลงทุนที่เน้นลงทุนระยะกลางถึงยาวกลับเข้ามาสะสมหุ้นเพิ่มเติมมากขึ้นด้วย

ตัวช่วยฟื้นความเชื่อมั่น
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.กรุงศรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากแนวทางของรัฐบาลในระยะถัดไปมีการสนับสนุนการซื้อหุ้นคืน หากธุรกิจนั้นมีกระแสเงินสดที่มั่นคง และมีราคาหุ้นที่ตกต่ำเกินจริง โดยการประกาศซื้อหุ้นคืนจะเป็นตัวช่วยในการฟื้นความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นได้ โดยจะเห็นว่าในต่างประเทศก็มีการประกาศซื้อหุ้นคืน เช่น Apple หรือแม้กระทั่ง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ก็เคยมีประกาศซื้อหุ้นคืนในบริษัท Berkshire Hathaway

อย่างไรก็ตาม หากกระแสเงินสดของบริษัทนั้นไม่ได้มีความมั่นคงมากพอ การประกาศซื้อหุ้นคืนอาจจะไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากจะทำให้บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องได้ และหากบริษัทมีราคาหุ้นที่สูงเกินความเป็นจริงอาจสร้างภาพของ Overvalued ให้กับมูลค่าหุ้นได้

8 หุ้นบิ๊กแคปมีลุ้นซื้อหุ้นคืน
นายกรภัทรระบุว่า ประเมินกระแสการเก็งกำไรหุ้นในตลาดที่มีแนวโน้มจะซื้อหุ้นคืน โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่และขนาดกลาง หลัง TTB นำร่องประกาศซื้อหุ้นคืนวงเงินรวม 2.1 หมื่นล้านบาท หากอิงเกณฑ์ที่ฝ่ายกลยุทธ์ใช้คัดเลือกหุ้นที่มีโอกาสซื้อคืนในลำดับถัดไป จะเป็นหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ต่ำกว่า 1 เท่า มีสภาพคล่องมากพอซื้อคืนมากกว่า 5% ของมูลค่าตลาด รวมทั้งมีสภาพคล่องเข้าเกณฑ์ของตลาด และมีสภาพคล่องเพียงพอชำระหนี้ครบกำหนดในอีก 1 ปี (ตลาดกำหนด 6 เดือน) และมีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรในงบเดี่ยวเพียงพอรองรับการซื้อคืน

จะพบว่ามีหุ้นบิ๊กแคปในกลุ่มพลังงาน, ธนาคาร และปิโตรเคมี ที่มีโอกาสเห็นการซื้อคืนจำนวน 8 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งมี P/BV ที่ระดับ 0.79 เท่า 2.SCB ที่มี P/BV ที่ระดับ 0.85 เท่า 3.KBANK) มี P/BV ที่ระดับ 0.67 เท่า 4.บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) มี P/BV ที่ระดับ 0.71 เท่า 5.บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มี P/BV ที่ระดับ 0.53 เท่า 6.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มี P/BV ที่ระดับ 0.37 เท่า 7.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มี P/BV ที่ระดับ 0.36 เท่า และ 8.บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ที่มี P/BV ที่ระดับ 0.8 เท่า

หามาตรการกระตุ้น บจ.
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ติดตามแนวโน้ม บจ.ที่หันมาซื้อหุ้นคืนอยู่ ซึ่งสนับสนุนการใช้เครื่องมือนี้ เพราะถือเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องของบริษัท โดยเฉพาะช่วงดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมาก ซึ่งก็สมเหตุสมผลเพราะหลายหุ้นมีพื้นฐานดี แต่ราคาหุ้นลงจากแรงกดดันของตลาดในภาพรวม ซึ่งก็จะช่วยเพิ่ม Value ให้ธุรกิจฟื้นตัวขึ้นได้

โดยก่อนหน้านี้ นายอัสสเดช คงศิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า สถิติพบว่ากว่า 50% ของบริษัทจดทะเบียน 900 แห่ง มีอัตราส่วนราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV) ซึ่งถือว่ายังไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง โดย บจ.เหล่านี้มีฐานะการเงินดี แต่ไม่ขยายธุรกิจ (Lazy Balance Sheets) โดยมีแนวนโยบายที่จะหามาตรการจูงใจเพื่อมากระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนคิดพัฒนาเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าบริษัท เพราะหลายบริษัทมีทุน มีสินทรัพย์ แต่ไม่ได้ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม

บจ.เงินสดเหลือเยอะ
นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์ 1 และดูแลสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวต่อว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่บริษัทจดทะเบียนประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนจำนวนมากพอสมควร เพราะเป็นจังหวะที่ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทดูแล้วน่าสนใจเข้าลงทุนเพราะต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ทำให้บริษัทที่มีเงินสดเหลือมากจะใช้เครื่องมือนี้ในการให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น แทนการจ่ายเป็นเงินปันผล โดยเครื่องมือนี้ในญี่ปุ่นจะค่อนข้างเป็นที่นิยมมาก

“อย่างไรก็ดี การซื้อหุ้นคืนต้องซื้อในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่นึกจะซื้อก็ซื้อเพื่อไปพยุงราคา แต่มีกระบวนการที่ต้องขอมติคณะกรรมการบริษัท และมีเกณฑ์กำหนดราคาอยู่ว่าห้ามซื้อไม่เกินกว่าราคาตลาดย้อนหลัง 115% และราคาขายไม่เกิน 85% นอกจากนั้นยังต้องถือหุ้นไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพราะฉะนั้นจะเหมาะกับบริษัทที่มีเงินสดเหลือเยอะ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน บางบริษัทที่แม้จะชะลอลงทุนใหม่ ก็อาจจะเก็บเงินสดไว้ในมือก่อนเพื่อรอดูจังหวะ” นายอำนวยกล่าว

TTB เพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTB กล่าวว่า การประกาศซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้เป็นหนึ่งในแผนงานด้านการบริหารส่วนทุน (Capital Management) โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการปรับโครงสร้างและขนาดงบดุลให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ภายหลังการซื้อหุ้นคืน ผู้ถือหุ้นจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ตามการลดลงของมูลค่าทางบัญชีในส่วนของผู้ถือหุ้นและการลดลงของจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เทียบกับระดับ ROE ในปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2567 ที่ 9% และ EPS ที่ 0.22 บาท ขณะที่ประเมินว่าอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงสูงกว่า 19% ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูงและเพียงพอต่อการเติบโตสินเชื่อตามแผนธุรกิจ

ทีทีบี ตั้งเป้าปี’69 ดัน ROE 10%
นักลงทุนสัมพันธ์ TTB เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงิน ภายใต้วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2568-2570 นั้น เป็นแผนงานด้านการบริหารเงินส่วนทุน (Capital Management) ของธนาคาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นผ่านการปรับโครงสร้างและขนาดงบดุลให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ภายในปี 2569 อยู่ที่ 10% จากปี 2567 อยู่ที่ 9%

ทั้งนี้ เป้าหมายการเพิ่ม ROE ให้ไปถึง 10% สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพิ่มอัตราเงินปันผล ซึ่งธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่จากช่วงก่อนควบรวมกิจการ หลังควบรวม และช่วงโควิด-19 โดยเพิ่มอัตราเงินปันผลจากระดับ 35% มาเป็น 60% ถือเป็นสเต็ปแรกที่ธนาคารได้ดำเนินการแล้ว และโครงการซื้อหุ้นคืนเป็นวิธีต่อมาที่ธนาคารได้ดำเนินการ เนื่องจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ขั้นที่ 1 (Tier1) อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าอุตสาหกรรม หากไม่ทำอะไรเลยจะทำให้ ROE ปรับลดลง

อย่างไรก็ดี ภายใต้อัตราการจ่ายเงินปันผล 60% จะเห็นว่าเงินส่วนที่เหลืออีก 40% ธนาคารยังคงดำเนินแผนการเติบโต ทั้งการลงทุน และการเติบโตของสินเชื่อ แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน การเติบโตสินเชื่อยังคงมีความท้าทาย จะเห็นว่าหลายธนาคารอัตราการเติบโตสินเชื่อไม่ได้สูงมาก ทำให้ความต้องการเงินทุนจำนวน เพื่อจะโตสินเชื่อในอัตรา 5-10% เหมือนในอดีตมีน้อยลง

ขณะเดียวกัน สินเชื่อธนาคารมุ่งเน้นจะเป็นสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งมีการชำระคืนหนี้ในทุกเดือนหมุนเป็นสภาพคล่องกลับมา จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินทุนน้อยลง เมื่อเทียบกับสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งกินเงินทุนที่สูงกว่า ทั้งนี้ ในปี 2568 ธนาคารยังตั้งเป้าหมายการเติบโตสินเชื่ออยู่ในอัตรา 0-2% ถือเป็นการเติบโตไม่ได้สูงมาก จึงไม่ต้องการเงินทุนจำนวนสูงมาก

ดังนั้น ในปี 2567 ธนาคารมีกำไรอยู่ที่ราว 2.1 หมื่นล้านบาท หากหักอัตราการจ่ายเงินปันผล 60% หรือราว 1.2-13 หมื่นล้านบาท ธนาคารยังคงมีเงินเพียงพอและมีศักยภาพในการเติบโตสินเชื่อ เพราะธนาคารเน้นโตรายย่อยมีหลักประกัน ซึ่งไม่กินทุนเท่าไร

เตือนระวัง “หนี้สินต่อทุน” เพิ่ม
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่บริษัทประกาศซื้อหุ้นคืนนอกจากเป็นการส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นต่ำเกินไป ในภาวะที่ดัชนีตลาดปรับลดลงต่ำมาก ๆ ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับโครงสร้างทางการเงิน ในช่วงที่บริษัทมีกำไรสะสม หรือเหลือเงินสดในมือมากเกินไป และยังไม่มีความจำเป็นที่จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ลงทุน ทำให้หลายบริษัทเลือกที่จะนำเงินที่เหลือมาซื้อหุ้นคืน

เพราะการซื้อหุ้นคืนยังสามารถทำให้อัตราส่วนทางการเงินดูดีขึ้น เนื่องจากเป็นการลดจำนวนหุ้นในตลาด ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) ลดลง ซึ่งส่งผลต่ออัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น EPS, ROE, P/E และ DPS เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังของการซื้อหุ้นคืนคือจะทำให้ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น ทำให้อาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต เพราะบริษัทเลือกนำเงินมาซื้อหุ้นคืน แทนที่จะนำไปลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งก็อาจส่งผลต่ออัตราการเติบโตในอนาคตได้

19 บริษัทลุยซื้อหุ้นคืน 3 หมื่น ล.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับจากช่วงไตรมาส 3/ 2567 จนถึง 30 ม.ค. 2568 มีบริษัทจดทะเบียนประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนแล้วจำนวน 19 บริษัท โดยอนุมัติวงเงินซื้อหุ้นคืนรวมทั้งสิ้น 32,631 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.TTB ประกาศซื้อคืน 3,500 ล้านหุ้น ช่วงเวลา 3 ก.พ.-1 ส.ค. 2568 วงเงินมูลค่า 7,000 ล้านบาท จากวงเงินอนุมัติซื้อหุ้นคืนทั้งหมด 21,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี

2.TU ประกาศซื้อคืนรวม 200 ล้านหุ้น มูลค่า 3,000 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 2 ม.ค.-30 มิ.ย. 2568

3.CK ประกาศซื้อคืนรวม 130 ล้านหุ้น มูลค่า 3,000 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 2 ธ.ค. 2567-1 มิ.ย. 2568

4.TOA ประกาศซื้อคืนรวม 60 ล้านหุ้น มูลค่า 1,300 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 11 ธ.ค. 2567-10 มิ.ย. 2568

5.KKP ประกาศซื้อคืนรวม 22 ล้านหุ้น มูลค่า 950 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 28 ส.ค. 2567-27 ก.พ. 2568

6.TQM ประกาศซื้อคืนรวม 30 ล้านหุ้น มูลค่า 700 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 2 ม.ค.-30 มิ.ย. 2568

7.SNNP ประกาศซื้อคืนรวม 40 ล้านหุ้น มูลค่า 640 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 23 ธ.ค. 2567-20 มิ.ย. 2568

8.DCC ประกาศซื้อคืนรวม 250 ล้านหุ้น มูลค่า 500 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 13 ส.ค. 2567-12 ก.พ. 2568

9.EKH ประกาศซื้อคืนรวม 63.49 ล้านหุ้น มูลค่า 400 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 13 ม.ค.-11 ก.ค. 2568

10.SMT ประกาศซื้อคืนรวม 80 ล้านหุ้น มูลค่า 250 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 14 พ.ย. 2567-13 พ.ค. 2568

11.RPH ประกาศซื้อคืนรวม 35 ล้านหุ้น มูลค่า 200 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 13 ธ.ค. 2567-13 มี.ค. 2568

12.BM ประกาศซื้อคืนรวม 55 ล้านหุ้น มูลค่า 170 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 20 ส.ค. 2567-19 ก.พ. 2568

13.SUSCO ประกาศซื้อคืนรวม 50 ล้านหุ้น มูลค่า 155 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 10 ม.ค.-9 ก.ค. 2568

14.SONIC ประกาศซื้อคืนรวม 75 ล้านหุ้น มูลค่า 120 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 15 พ.ย. 2567-12 มิ.ย. 2568

15.SNP ประกาศซื้อคืนรวม 7 ล้านหุ้น มูลค่า 100 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 20 พ.ย. 2567-19 พ.ค. 2568

16.PJW ประกาศซื้อคืนรวม 20 ล้านหุ้น มูลค่า 50 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 16 ธ.ค. 2567-13 มิ.ย. 2568

17.SEAFCO ประกาศซื้อคืนรวม 25 ล้านหุ้น มูลค่า 50 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 20 ส.ค. 2567-20 ก.พ. 2568

18.DDD ประกาศซื้อคืนรวม 2 ล้านหุ้น มูลค่า 30 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 19 ธ.ค. 2567-18 มิ.ย. 2568

19.MOONG ประกาศซื้อคืนรวม 33.6 ล้านหุ้น มูลค่า 16.8 ล้านบาท ช่วงระยะเวลา 20 ส.ค. 2567-19 ก.พ. 2568… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/finance/news-1748263

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here