Source: ส.อ.ท. เปิด 7 อุตสาหกรรมกระทบหนัก ภาษี ‘ทรัมป์’ เสียหาย 8-9 แสนล้าน
08 เม.ย. 2025 เวลา 6:15 น.
ส.อ.ท. เปิด 7 อุตสาหกรรมกระทบหนัก ภาษี ‘ทรัมป์’ เสียหาย 8-9 แสนล้าน
Play
KEY
POINTS
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เพราะอัตราภาษีสูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง
มาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐ อาทิ เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากขึ้น
แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า
ภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐ ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าเท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้ทุ่มตลาดเหมือนเช่นปัจจุบัน
จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ ล่าสุดประเทศไทยโดนปรับขึ้นเป็น 36% ได้สร้างความประหลาดใจกับภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างสูง เพราะด้วยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงไม่ฟื้นตังเท่าที่ควร และภาคการส่งออกของไทยซึ่งตัวเลขการส่งออกไปสหรัฐถือเป็นตบลาดหลักที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษบกิจประเทศให้เติบโต
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้หารือแนวทางรับมือหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่ไทยโดนเก็บภาษีสูงถึง 36% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ เพื่อระดมสมองหามาตรการรับมือ ซึ่งคาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เพราะอัตราภาษีสูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง ดังนี้
1.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนถูกเก็บภาษีอัตรา 25% ตั้งแต่เดือน มี.ค.2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐมากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง
2.อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
3.อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์ กำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
4.อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐ 2 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ส.อ.ท.คาดมูลค่าเสียหายหลังสหรัฐขึ้นภาษี 8-9 แสนล้านบาท
ส.อ.ท.คาดมูลค่าเสียหายหลังสหรัฐขึ้นภาษี 8-9 แสนล้านบาท
04 เม.ย. 2568 | 16:51
สหรัฐขึ้นภาษีป่วนเศรษฐกิจโลก ส.อ.ท. หวั่น GDP หด ท่องเที่ยวสะดุด
สหรัฐขึ้นภาษีป่วนเศรษฐกิจโลก ส.อ.ท. หวั่น GDP หด ท่องเที่ยวสะดุด
04 เม.ย. 2568 | 5:55
ส.อ.ท. ผนึก ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI
ส.อ.ท. ผนึก ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI
01 เม.ย. 2568 | 16:53
5.อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบชัดเจนมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์
6.อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง
7.อุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปสหรัฐสูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญคำสั่งซื้อลดลง และกระทบความสามารถการแข่งขันเพราะคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ารักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ดีขึ้น
สำหรับมาตรการรับมือและหารือกับสหรัฐ อาทิ 1. เจรจาสร้างความสมดุลการค้าสหรัฐทั้งการนำเข้าและส่งออก โดยเสนอแนวคิดที่สร้างสรรค์ เช่น การนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเพื่อมาแปรรูปและส่งออกมากขึ้น
2. แก้กฎหมายและภาษีนำเข้าไทย เพื่อสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะนำเข้าจากสหรัฐ ประมาณ 4-5 รายการ เช่น ข้าวโพด และปลาทูน่า เป็นต้น
3. ออกมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และแผงโซล่าเซลล์
4. ทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) เช่น กรณีรถมอเตอร์ไซค์ที่ไทยมีการตั้งภาษีไว้สูง
ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะศึกษาข้อมูลภายในกลุ่มเพิ่มเติมว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใดและหาจุดยืนร่วมกัน เพื่อ ส.อ.ท. เสนอแนวทางให้รัฐบาลพิจารณา
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนได้ร่วมเจรจาเพื่อเตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐ เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้นำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงสินค้าหนัก เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน
“ภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน”