Source: เนสท์เล่ เคลียร์ปมข้อพิพาท ยึดตามคำตัดสิน ศาลทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันลงทุนผลิต ‘เนสกาแฟ’ ในไทย
วันที่ 16 เมษายน 2568 – 18:16 น.
FacebookTwitterLINECopy Link
เนสท์เล่ เคลียร์ปมข้อพิพาท ยึดตามคำตัดสินศาลทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันลงทุนผลิต ‘เนสกาแฟ’ ในไทย
จากกรณีที่ในวันที่ 17 เม.ย. 68 นี้ ศาลแพ่งมีนบุรีจะมีการไต่สวนฉุกเฉิน หลังเนสท์เล่ยื่นคัดค้านคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ห้ามมิให้ “เนสท์เล่” ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟ ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย
หลังศาลแพ่งมีนบุรีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณี เฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ฟ้องดำเนินคดีเนสท์เล่
ขณะที่เนสท์เล่ ได้ยึดตามคำตัดสินล่าสุดจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ที่ยืนยันว่าบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศไทยได้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568
วันที่ 16 เมษายน 2568 บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มีหนังสือแถลงการณ์ โดยบุว่า เนสกาแฟ แบรนด์กาแฟจากเนสท์เล่ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งจากผู้บริโภคชาวไทย ได้มุ่งมั่นสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี โดยล่าสุดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2568 เนสท์เล่ ได้รับซื้อเมล็ดกาแฟโรบัสต้าจากเกษตรกรไทยเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2567 เนสท์เล่ ได้มีสัญญากับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ จำกัด (QCP) ให้เป็นผู้ผลิตเนสกาแฟ ในประเทศไทย โดยสูตรกาแฟและเทคโนโลยีการผลิตเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่ และทีมงานในสายการผลิตและการบริหารงานทั้งหมดก็เป็นทีมงานของเนสท์เล่
ภายหลังการสิ้นสุดสัญญาระหว่างเนสท์เล่ กับ QCP ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เนสท์เล่ได้ดำเนินการเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เพื่อให้ผู้บริโภคไทยยังคงสามารถดื่มด่ำกับผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกประเภทได้อย่างเต็มที่ด้วยรสชาติและคุณภาพระดับสูงเช่นเดิม
โดยเนสท์เล่ได้มีการว่าจ้างบริษัทในประเทศไทยให้ช่วยผลิตผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ พร้อมทั้งนำเข้าผลิตภัณฑ์บางส่วนจากประเทศในแถบอาเซียนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากกำลังผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ เนสท์เล่ ยืนยันว่าจะลงทุนเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยต่อไป และในขณะนี้ เนสท์เล่กำลังเตรียมการเพื่อกลับมาดำเนินการผลิต เนสกาแฟในประเทศ หลังจากที่ได้รับคำสั่งจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยในระหว่างที่เรากำลังเตรียมการเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย เราจะยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากเกษตรกรไทยให้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้ เนสท์เล่ได้รับคำตัดสินจากศาลอนุญาโตตุลาการสากลว่าเนสท์เล่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาการร่วมทุนอย่างครบถ้วน และการสิ้นสุดสัญญากับบริษัท QCP เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567ถูกต้องและมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย
แต่ผู้ถือหุ้นของบริษัท QCP คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว กลับยื่นขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่งมีนบุรี และต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 มีคำสั่งว่า บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย ซึ่งมีผลให้เนสท์เล่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟในประเทศได้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ เนสท์เล่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบการรายย่อย คู่ค้าซัพพลายเออร์ ผู้บริโภค และเกษตรกรที่เราทำงานด้วยอย่างใกล้ชิด จะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้ถือหุ้นดังกล่าว
เนสท์เล่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2567 เนสท์เล่ได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทย และเนสท์เล่จะยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจของเราต่อไป
ย้อนเส้นทางก่อนเกิดข้อพิพาท ทาง“เนสท์เล่”เป็นเจ้าของแบรนด์ เนสกาแฟ โดยเนสท์เล่ร่วมลงทุนกับฝั่ง “ประยุทธ มหากิจศิริ ” ทำโรงงานชื่อบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย
โดย “ประยุทธและครอบครัว” ถือหุ้นครึ่งหนึ่งในบริษัท QCP เนสท์เล่ก็ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่งและเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการผลิต การจัดจำหน่าย และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟเองในประเทศไทย
ขณะที่สูตรกาแฟกับเทคโนโลยีการผลิตก็เป็นของเนสท์เล่เองทั้งหมด หลังบริษัท QCP หมดอายุสัญญากับเนสท์เล่ เนสท์เล่ก็ไม่ได้ต่อสัญญาเมื่อเดือนธันวาคม 2567ศาลอนุญาโตตุลาการสากลได้ตัดสินว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุน (Joint Venture) ถูกต้องแล้ว
แต่ฝั่ง“เฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัว ” กลับฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมีนบุรี โดยที่เนสท์เล่ยังไม่ทันได้นำเสนอพยานหลักฐานซึ่งรวมถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากลที่มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย
ก่อนที่ศาลแพ่งมีนบุรีจะมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ไม่ให้ผลิต ห้ามขาย ห้ามนำเข้าสินค้าเนสกาแฟในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา
ทำให้เกิดเป็นผลกระทบเป็นวงกว้าง จนกระทั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ซึ่งทำให้เนสท์เล่กลับมาดำเนินธุรกิจเนสกาแฟได้ตามปกติ