Source: หากไทยถูกจำกัดนำเข้า ‘ชิป AI’ จากสหรัฐ เราจะเจอผลกระทบอะไรบ้าง

KEY
POINTS
- การเข้าถึงชิป AI ประสิทธิภาพสูง เช่น Nvidia และ AMD จะถูกจำกัด ทำให้ต้นทุนฮาร์ดแวร์สูงขึ้นและใช้เวลาสั่งซื้อนานขึ้น
- ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนา AI ของไทยจะลดลง เนื่องจากนักวิจัยขาดทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นสำหรับสร้างนวัตกรรม
- บริษัทและผู้ให้บริการคลาวด์ในไทยต้องเผชิญภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันการส่งต่อชิปไปยังจีน
- ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็น “จุดส่งต่อ” ชิปไปยังจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบและมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ
- เกิดแรงกดดันให้ไทยต้องกระจายความเสี่ยงโดยการหาแหล่งจัดซื้อฮาร์ดแวร์จากผู้ผลิตรายอื่น และเร่งพัฒนาขีดความสามารถด้านการออกแบบชิปภายในประเทศ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กลงข่าว “สหรัฐฯ จ่อจำกัดการส่งออกชิป AI มายังไทยและมาเลเซีย หวั่นลักลอบส่งต่อไปยังจีน” ทั้งนี้ ในเนื้อข่าว ระบุว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วางแผนควบคุมการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากบริษัทอย่าง Nvidia Corp. ไปยังประเทศมาเลเซีย และไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ที่น่าสงสัยไปยังประเทศจีน
แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ร่างข้อบังคับควบคุมที่มีเป้าหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้จีนได้รับส่วนประกอบของชิป AI เหล่านั้น โดยจะกำหนดให้การขายชิป AI ไปยังมาเลเซียและไทย ต้องได้รับการอนุมัติจากสหรัฐมาตรการนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ ในการปรับเปลี่ยนนโยบายด้าน AI จากรัฐบาลชุดก่อนหน้า และจะแทนที่กฎเดิม
แต่ทั้งนี้ ข้อจำกัดการส่งออก อาจมีมาตรการหลายอย่างเพื่อลดแรงกดดันต่อบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่สำคัญในสองประเทศนี้ รวมถึงการอนุญาตให้ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลสัญชาติอเมริกันได้รับการอนุมัติสามารถซื้อชิป AI เข้าไปใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ร่างข้อบังคับดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้
ความขัดแย้งด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีไบเดน โดยสหรัฐได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกที่ครอบคลุม และซับซ้อนมากขึ้น เพื่อจำกัดขีดความสามารถของจีนในการพัฒนา AI การพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และการผลิตชิปขั้นสูงสำหรับวัตถุประสงค์ทางทหาร มาตรการเหล่านี้ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 และขยายขอบเขตอย่างมีนัยสำคัญในปี 2023 โดยเพิ่มการครอบคลุมถึงกิจกรรมของบุคคลสัญชาติสหรัฐ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาหรือการผลิตชิปขั้นสูงที่โรงงานในจีน และขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อสกัดกั้นความพยายามในการหลีกเลี่ยงการส่งต่อชิปผ่านประเทศที่สาม
ล่าสุดมาตรการเดือนมกราคม และ พฤษภาคม 2025 สหรัฐเพิ่มการกำหนดบทลงโทษสำหรับการใช้ชิป AI ของบริษัทสหรัฐในการฝึกอบรมโมเดล AI ของจีน รวมถึงห้ามใช้งานชิป Huawei Ascend ของจีน “ที่ใดก็ได้ในโลก” ทั้งนี้ รายงานล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2025 เกี่ยวกับไทยและมาเลเซียเป็นการระบุอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายในการป้องกัน “การส่งต่อ” และ “การลักลอบนำเข้า” ชิปไปยังจีน พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการใช้งานชิปสหรัฐฯ สำหรับประเทศพันธมิตร
การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งชี้ว่า กลยุทธ์ของสหรัฐกำลังครอบคลุมมากขึ้น และไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ภูมิศาสตร์อีกต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบสำหรับผู้เล่นทั่วโลก รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแนวทางการควบคุมแบบ “เต็มรูปแบบ” ไม่เพียงแต่ปัจจัยการผลิต แต่ยังรวมถึงการประยุกต์ใช้ AI ในขั้นปลายน้ำ และขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎระเบียบของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก
หากประเทศไทยถูกเพิ่มในบัญชีควบคุมการส่งออกชิปขั้นสูงของสหรัฐ จะส่งผลกระทบโดยตรงและมีนัยสำคัญต่อระบบนิเวศ AI ของประเทศในประเด็นต่างๆ ดังนี้
การเข้าถึงชิป AI ประสิทธิภาพสูง การเข้าถึงชิป AI เช่น Nvidia H100 หรือ AMD MI300X จะถูกจำกัดอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการคลาวด์ และสถาบันวิจัยที่ต้องการพลังการประมวลผลระดับสูงสำหรับการฝึกอบรมโมเดล AI ขนาดใหญ่และการประมวลผลที่ซับซ้อน
ต้นทุนและระยะเวลาการสั่งซื้อ การจำกัดการเข้าถึงทำให้ต้นทุนฮาร์ดแวร์ AI ขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และระยะเวลาสั่งซื้อสินค้ายาวนานขึ้น เนื่องจากความต้องการเพิ่มและอุปทานที่จำกัด ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น
ขีดความสามารถแข่งขันด้านวิจัยและพัฒนา การจำกัดการเข้าถึงชิป AI สำหรับการประมวลผล เป็นการลดขีดความสามารถแข่งขันด้านวิจัยและพัฒนา AI ของไทย เนื่องจากนักวิจัยและนักพัฒนาจะไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นสำหรับการทดลอง และสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ที่ทันสมัยได้
ภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผู้ให้บริการคลาวด์ และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินงานในไทยต้องเผชิญภาระการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น เช่น ข้อกำหนดตรวจสอบผู้ใช้ปลายทาง เพื่อให้มั่นใจว่าชิปถูกนำไปใช้ในสถานที่ที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น
ความเสี่ยงจากการเป็น “จุดส่งต่อ” ประเทศไทยอาจถูกมองว่าเป็น “จุดส่งต่อ” สำหรับลักลอบนำชิป AI ไปยังจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น และมาตรการควบคุมเพิ่มเติมจากสหรัฐ นอกเหนือผลกระทบโดยตรงแล้ว การถูกเพิ่มในบัญชีควบคุมชิปขั้นสูง ยังนำมาซึ่งผลกระทบทางอ้อมและความท้าทายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ
การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อาจเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และความสัมพันธ์ธุรกิจที่มีอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐและพันธมิตร อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของศูนย์ข้อมูลและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน AI
ความจำเป็นในการจัดหาแหล่งซื้อฮาร์ดแวร์เพิ่มเติม ประเทศไทยต้องพิจารณากลยุทธ์การกระจายแหล่งจัดหาฮาร์ดแวร์ AI ซึ่งอาจรวมถึงการสำรวจทางเลือกจากผู้ผลิตจีน (เช่น Huawei Ascend, Biren, Moore Threads) หรือผู้ผลิตจากประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้อาจนำไปสู่ความท้าทายด้านความเข้ากันได้กับระบบนิเวศซอฟต์แวร์ตะวันตกที่มีอยู่ (เช่น CUDA เทียบกับ MindSpore) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและการลงทุนในการปรับตัว
การพัฒนาขีดความสามารถภายในประเทศ จะมีความกดดันเพิ่มขึ้นในการพัฒนาบุคลากรด้านออกแบบชิปและการผลิตภายในประเทศ แม้ว่านี่จะเป็นความพยายามระยะยาวที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
การจัดการความสัมพันธ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทยต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐ และจีน ซึ่งเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนในบริบทความขัดแย้งทางเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้น
จะเห็นได้ชัดเจนว่า หากสหรัฐดำเนินมาตรการจำกัดการส่งออกชิป AI ต่อไทย จะกระทบอย่างรุนแรงต่อความสามารถแข่งขันทางเทคโนโลยีของประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ประเทศไทยจึงควรเตรียมแผนรองรับและกลยุทธ์ทางเลือกเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกับประเทศมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย