Source: กรณี ธนาคารมหานคร – วิรัตน์ แสงทองคำ
27/05/2010
วิรัตน์ แสงทองคำ
2477 ธนาคารตันเปงชุน ก่อตั้ง_____
2503 เปลี่ยนมือการบริหารครั้งแรก พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา______
2520 ทางการและสมาคมธนาคารไทยเข้าช่วยกอบกู้กิจการ เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ธนาคารมหานคร_________
2530 เปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักด________________
2541 ถูกปิดกิจการ โดยโอนสินทรัพย์ไปรวมธนาคารกรุงไทย
1 ความยิ่งใหญ่แห่งเงินตรา
อาณาจักรของเขาเคยยิ่งใหญ่มาก มีสิ่งมีค่าอยู่4 สิ่ง สัมปทานสุรา ที่ดิน ภายใต้ฐานธุรกิจการเงินที่เข้มแข็ง __ ธนาคารมหานคร และบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ เป็นฐานความมั่นคง ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ในช่วงก่อนปี2530 กล่าวกันว่าเขาเป็น คนสุดท้าย ที่ทำเช่นนี้ได้ คำถามก็คือ เขาจะทำอย่างไร กับ สิ่งที่เขาสร้างมาทั้งหมด
เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือกำเนิดในย่านการค้าเสี่ยงโชคเก่าแก่ของสังคมไทย ย่านทรงวาด เขาได้เข้าโรงเรียนเผยอิง จนจบ ป.4 ใครๆก็ว่าเขาเป็นคนนิสัยดี อ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องราวดำเนินไปอย่างเรียบ ๆ ไม่มีความหมายมากนัก หากเขาไม่พบวรรณา และ กึ้งจู แซ่จิว ซึ่งต่อมาคนแรกคือภรรยาของเขา ส่วนที่สองคือ พ่อตาผู้อุ้มชูเขาเข้าสู่แวดวงธุรกิจ จุดเริ่มต้นที่เขาเข้าไปสัมผัสโอกาสที่ยิ่งใหญ่ ในเวลาต่อมา คงไม่เกิดขึ้น
กึ้งจู แซ่จิว หรือ CHOU CHINS SHU ผู้เก็บตัวเงียบ และรวยเงียบ ๆ ย่านทรงวาด มีกิจการโชห่วยขายของ โรงงานแม่โขงกลายเป็น ลูกค้ารายใหญ่ ราว ๆ ปี 2505″ผมได้เริ่มรู้จักท่านผู้อำนวยการ เมื่อปี 2505 จากการเข้าไปขายของให้แก่โรงงานสุราบางยี่ขัน”เจริญ สิริวัฒนภักดี เขียนคำไว้อาลัย ในหนังสืองานศพของ จุลกาญจนลักษณ์ (มิถุนายน 2530) บอกจุดเริ่มต้นของความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสุราครั้งแรกของเขาเอาไว้ด้วย
ช่วงนั้นถือเป็นการเดินทางค่อนข้าง ยาวนาน เพื่อสะสมและสร้างสายสัมพันธ์ ทางธุรกิจ
ในปี 2515 กึ้งจู แซ่จิว ร่วมกับโคโร่ (คำรณ เตชะไพบูลย์) ก่อตั้งบริษัท ธนพัฒนาทรัสต์ และต่อมาในปี 2522 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ จำกัด อันเป็นเวลา ช่วงเดียวกับ ที่โคโร่กำลังจะเปลี่ยนฐานะผู้จัดการแบงก์ศรีนคร สาขาประตูนำ้ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แบงก์มหานคร และผู้จัดการใหญ่ในเวลาต่อมา
ส่วนเจริญนั้น เมื่อเขาได้เข้าร่วมงานกับเถลิง เหล่าจินดา ที่บริษัทสุรา มหาคุณ ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป
เถลิง เหล่าจินดา เป็นคนอ่างทอง เริ่มเข้าสู่ยุทธจักรค้าขายจากกิจการร้านขายกาแฟเล็กๆ อยู่พักหนึ่ง จึงหักเหชีวิตเข้ากรุงเทพฯก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามสงบลง ตั้งบริษัทขายส่งเหล้าชื่อบริษัทเศรษฐการ จำกัด โดยร่วมมือกับสหัท มหาคุณ คนสนิทจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากนั้นไม่นาน สหัทได้รับสัมปทาน กิจการทำเหล้า -แม่โขง เถลิง เหล่าจินดา จึงตามมาด้วย
ธุรกิจสุรายิ่งใหญ่ พอที่จะดึงเอาที่สุด ๆ ของหลายวงการมาเป็นพวก เช่น ชาตรี โสภณพนิช ในฐานะธนาคารใหญ่ที่สุด หรือพงศ์ สารสิน ในฐานะเลขาธิการพรรค การเมืองที่ใหญ่ที่สุด (ในขณะนั้น) และมีรากฐานมาจากตระกูลที่มีเส้นสนกลในมากที่สุดมาเป็นหุ้นส่วน ไปจนถึง พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก นายทหารใหญ่ ขณะนั้นกำลังใหญ่คับประเทศ
แม่โขงยุคที่สอง สัญญาเริ่มจากปี 2513 เถลิง เหล่าจินดา ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากงานคุมด้านการค้ามาเป็นรองผู้อำนวยการ และคุมฝ่ายโรงงานและจัดซื้อ ฝ่ายหลังนี้ถือเป็นฝ่ายที่สำคัญที่สุด เพราะต้องรับผิดชอบการผลิตแม่โขง ตั้งแต่ฝาจุก ขวดเหล้า ฯลฯ
หนึ่งในจำนวนคู่ค้านั้นก็คือ กิจการค้าของเจริญ ซึ่งร่วมกับพ่อตา ถึงแม้จะเป็นส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยจากเถลิง เหล่าจินดา แต่สำหรับเจริญ แล้วถือเป็นบทเรียนบทที่เขาได้นำมาใช้หลายครั้งในเวลาต่อมา การเกิดขึ้น ของบริษัทต่าง ๆ ที่เจริญตั้งขึ้นจนนับแทบไม่ถ้วน เพื่อค้าขายกับกิจการหลัก สุดท้ายสร้างความร่ำรวยอย่างมหาศาล มากกว่าผลตอบแทนอันเกี่ยวกับผลิตและค้าสุราโดยตรง
ขณะนั้นเกลุ่มเถลิง-เจริญ กำลังจะแยกตัวออกจากบริษัทสุรามหาคุณ ด้วยความไม่ลงรอยกันกับสุเมธ เตชะไพบูลย์ และแล้วเถลิงกับเจริญ ก็เหมือนคนกับเงาที่แยกจากกันไม่ออก
“เมื่อปี 2518 ท่าน (จุล กาญจนภาษณ์) ได้กรุณาแนะนำผมว่า โรงงานสุราของบริษัทธารน้ำทิพย์ จำกัด นั้นดำเนินกิจการขาดทุน หากปล่อยให้ล้มไปเป็นเรื่องน่าเสียดาย ควรช่วยกันรักษาเอาไว้ จะได้เป็นการพัฒนา สุราพิเศษอีกทางหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ สุราแสงโสมก็เกิดขึ้น และต่อมาก็หงส์ทองและสุราทิพย์ “เจริญ สิริวัฒนภักดี กล่าวไว้ในหนังสืองานศพสรรเสริญ จุล กาญจนลักษณ์ แต่สาระบ่งชี้ชัดว่า ปี 2518 เป็นปีที่กลุ่มเถลิง-เจริญ เริ่มต้นเป็นอิสระอย่างแท้จริง ด้วยการเข้าซื้อโรงงานธารน้ำทิพย์
เมื่อกลุ่มเถลิง-เจริญผลิตสุราแสงโสม กลุ่มสุรามหาราษฎร์ของตระกูลเตชะไพบูลย์ก็ได้สัญญาแม่โขงต่อไปในปี 2523 ภายหลังการขับเคี่ยวอย่างดุเดือด เลือดพล่าน ความพ่ายแพ้ของเถลิง-เจริญ ครั้งนั้นนำมาซึ่งบทเรียนแห่งชัยชนะของเจริญ ไม่นานจากนั้นนัก
นั่นคือการผลิตสุราหงส์ทองในย่านภาคกลาง อันเป็นถิ่นกำเนิดของเถลิง เหล่าจินดา แม้ว่าสัมปทานนี้ดูเทียบกับแม่โขงไม่ได้ แต่มันอยู่ที่กลยุทธ์ อันแยบยล สุราหงส์ทองซึ่งรสชาติใกล้เคียงกับแม่โขง (เพราะคนปรุงคนเดียวกัน) แต่ราคาถูกกว่าตีแม่โขงกระเจิดกระเจิง
เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้สร้างอาณาจักรธุรกิจของตนอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้ ดูไปแล้วไม่แตกต่างจากเถลิง เหล่าจินดา ได้ฉกฉวยโอกาสงามนั้นมาแล้วในช่วงเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายจัดซื้อแม่โขงเมื่อปี 2513
นั่นคือการเกิดขึ้นของบริษัทพงศ์เจริญการลงทุนซึ่งชื่อระบุชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพงศ์ สารสิน กับ เจริญโดยไม่มีเถลิง เหล่าจินดา ร่วมด้วยกิจการนี้เป็นผู้ค้าสุรา พร้อมทั้งเป็นโฮลดิ้งคัมปะนีด้วย กาลต่อมาเมื่อพงศ์กระโดดเข้าวงการการเมือง เขาจำต้องถอนหุ้นออกไปบริษัทนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็นเจริญวรรณกิจ ซึ่งความหมายของชื่อที่ต่อท้ายคำว่า”เจริญ” มาจากชื่อของภรรยาของเขาปี 2525 นั้น ยังเป็นปีที่เจริญร่วมมือกับเถลิงตักตวงผลประโยชน์อย่างมาก เขาทั้งสองร่วมตั้งบริษัทขึ้นมาจำนวนมาก อันเกี่ยวข้องกับการค้าสุรา อาทิ ทีซีซี, ทีซีซีธุรกิจ หรือ ทีซีซีบริหารธุรกิจ และก็ทุกบริษัทที่ว่ากึ้งจู แซ่จิว ก็ถือหุ้นด้วย
เถลิง เหล่าจินดา กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ทั้งสองมีจุดอ่อนจุดแข็งคนละด้าน แต่หากกล่าวถึงความเสียเปรียบได้เปรียบแล้ว คนวงในมองว่าเจริญดูจะได้ปรียบกว่าเถลิง ตรงที่เขามีพ่อตาเป็นกำลังหนุนอยู่เบื้องหลังอยู่ตลอดเวลา ปีกทางพ่อตาของเขา ก็สร้างอาณาจักรของตนเองอย่างเงียบที่สุด ด้วยสายสัมพันธ์กับเตชะไพบูลย์ โดยเฉพาะกับ คำรณ หรือโคโร่ จนต่อมาได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของแบงก์มหานครในช่วงนั้น
ปี 2526 กลุ่มเถลิง-เจริญ โดดเด่นขึ้นอีกขั้น เมื่อพวกเขาเข้ายึดกิจการผลิตสุรา 12 โรงในต่างจังหวัดไว้ในมืออย่างมั่นคงด้วยความร่วมมือจากหลายแบงก์ นอกจากแบงก์กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ แล้วที่น่าสังเกตคือแบงก์มหานคร
ในช่วงปี 2528 โรงงานสุราทั้ง 12 โรงทยอยสร้างเสร็จและเดินเครื่อง
และแล้วมรสุมร้ายก็เข้ามาปกคลุมกลุ่มสุราทิพย์ นั่นคือภาระหนี้สินนับหมื่นล้านบาท อันเนื่องมาจากการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายกับค่ายแม่โขง กวางทอง ที่สุดก็มีการเสนอแผนรวมกันระหว่างแม่โขงกับหงส์ทอง กว่าจะรวมกันได้ ก็ทำเอาทั้งสองฝ่ายสะบักสะบอมกันพักใหญ่ สถานการณ์ช่วงนี้ตึงเคียดมาก
และแล้วแม่โขง-หงส์ทองก็รวมกันสำเร็จ เป็นตำนานการต่อสู้ที่คลาสสิคมาก ความสำเร็จนี้เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2530 เป็นต้นมา
ต้นปี 2530 แม่โขง-หงส์ทองเริ่มหายใจคล่อง แต่กิจการพ่อตาเริ่มมีปัญหา
และมันก็เป็นการพิสูจน์ว่า การจัดวางกำลังระหว่างปีกของเจริญ และกึ้งจู แซ่จิว พ่อตาของเขานั้นเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างยิ่ง การหนุนช่วยซึ่งกันและกันทางธุรกิจดำเนินเป็นระลอกและได้ผลดี
ปัญหาเริ่มขึ้นที่แบงก์มหานคร โคโร่ต้องระเห็จออกนอกประเทศ ติดตามด้วยปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของแบงก์มหานคร จนแบงก์ชาติเข้ามาควบคุมตามด้วยมาตรการ ลดทุน เพิ่มทุนระดมผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา เดชะบุญที่กึ้งจู แซ่จิวไหวตัวทัน ก่อนที่โคโร่จะจากเมืองไทยไปเขาได้ซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจจากโคโร ในเวลาเดียวกันกลุ่มหงส์ทองซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารเกือบจะสิ้นเชิงของเจริญจึงได้ถูกชักนำมาถือหุ้นข้างมากของแบงก์นี้
ปี 2530 คือปีที่เจริญ รุกขยายอาณาจักรร่วมกับกึ้งจู แซ่จิวอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะขยายธุรกิจสร้างสินทรัพย์เติบโตและน่าสนใจที่สุด
กิจการร่วมทุนระหว่างเจริญกับเถลิงปลายปี 2529 และต้นปี 2530 ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เถลิง เหล่าจินดาได้ถอนตัวออกหมด เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน กึ้งจู แซ่จิว กับคำรณ เตชะไพบูลย์ ที่ฝ่ายหลังต้องถอนตัวออกจากวงการไปแบบจำยอม แล้วฝ่ายกึ้งจู ก็ค่อย ๆคืบคลานเข้ามาแทนที่ เริ่มจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจจนถึงแบงก์มหานคร
ปี 2530 จึงเป็นปีที่ปีกของเจริญ และกึ้งจู แซ่จิว มาบรรจบกัน ความยิ่งใหญ่แห่งเงินตราของเขาจึงเริ่มต้นตรงนี้
2 ก้าวพ้นพรมแดน”นักวิ่งเต้น”
ปี 2530 คือปีที่เจริญ สิริวัฒนภักดี์ เริ่มซื้อทรัพย์สินไว้อย่างมากมาย นอกจากแบงก์มหานครแล้ว มีที่ดินจำนวนมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นของการ เข้าสู่พรมแดนทางธุรกิจที่เขาไม่มีประสบการณ์
เขาเริ่มด้วยที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อยจากสาธร สู่ชานเมือง จากซอยเสนานิคม บางเขน จนถึงถนนช้างคลานที่เชียงใหม่
“เขาคิดได้ว่าเมื่อหงส์ทองมีปัญหาหนัก ๆ นั้น แทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มแม่โขง” คนใกล้ชิดบางคนกล่าวว่า จุดนี้เป็นจุดอ่อนของกลุ่มเจริญ ดังนั้นจึงเป็นไปได้เมื่อมีโอกาส เขาจึงระดมซื้อทรัพย์สิน เหล่านั้นไว้ หรืออีกนัยหนึ่ง เขาได้รับอิทธิพลจากเถลิง เหล่าจินดา ที่มีสินทรัพย์ ในรูปที่ดิน หรือตลาดในบ้านเกิดหลายแห่ง ไล่ดะตั้งแต่ อ.วังน้อย อยุธยาจนถึงอ่างทองบ้านเก่า
ที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าแบบดั่งเดิม อยู่ในเป้าหมายผู้ประกอบการไทยตลอดมานั้น ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีของเจริญด้วย
หนึ่ง-ที่ดิน เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากระบบธนาคารไทยมากที่สุดแต่ไหนแต่ไรมา เป็นหลักประกัน ในนำเงินจากระบบธนาคารมาลงทุนต่อเนื่องได้
สอง-ที่ดินโดยความเชื่อของนักลงทุนดั่งเดิมของไทย เชื่อว่าราคาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้พัฒนาการทางธุรกิจไทย ก่อนหน้านั้น ยังไม่มีประสบการณ์ราคาที่ดินตกต่ำมาก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์ในช่วงวิกฤติปี2540
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ที่ดินกับอำนาจในธนาคารมหานครของเขา จะสร้างกระบวนการ ที่สมเหตุสมผล ของการได้มาซึ่งเงินสดอย่างมาก จากธนาคาร อาจจะมากกว่ายอดขายของสุราเสียอีก
จากนั้นมาเจริญ สิริวัฒนภักดี จึงกลายเป็นคนที่มีเงินสดในมือมากที่สุด จากธุรกิจค้าสุราผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน เขาก็สามารถมีเงินก้อนใหญ่ได้เสมอจากหลักทรัพย์ที่ธนาคารเชื่อมั่น ด้วยการผ่านกลไกธนาคารที่เขามีอำนาจเต็มที่
นี่คือที่มาของเงินของเขาที่สร้างสั่นสะเทือนไปทั้งวงการธุรกิจ กลุ่มเจริญก็พัฒนา จากการลุยซื้อสินทรัพย์ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณรอบๆโรงงานสุราของเขา จนมาถึง มิใช่ที่ดินอย่างเดียว
เช่น สำนักงานใหญ่แบงก์สหธนาคาร ที่สามแยกปลายถนนเยาวราช ที่ดิน 492 ตารางวา บรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการใหญ่สหธนาคารในขณะนั้น ประกาศขาย ตารางวาละ 250,000 บาท รวม 123 ล้านบาท และอาคารพื้นที่ 12,396 ตารางเมตร ขายเป็นตารางเมตรละ 5,000 บาท เป็นเงิน 61,981,000 บาท รวมเป็นเงิน 184,981,000 บาท แต่ด้วยฝีปากการเจรจาของเจริญ สิริวัฒนภักดี บรรเจิดตกลงขายในราคาเพียง 120 ล้านบาท
ส่วนคลังสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติ๊ก (ประเทศไทย) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านถนนตกนั้นก็ซื้อหามาราคาร้อยกว่าล้านบาท เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลชลบุรี จากกระทรวงการคลัง
งานนี้เจริญเดินแผนใช้ชื่อว่าชาวไร่อ้อยชลบุรี ซึ่งนำโดย ดรงค์ สิงห์โตทอง เข้าซื้อมาเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้มีหลายรายการตั้งแต่ ค่าหุ้น ภาระหนี้สินแทน และจ่ายชดเชยให้พนักงานที่ต้องให้ออกจากงาน รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 255 ล้านบาท โดยใช้แคชเชียรเช็คของแบงก์มหานคร
เจริญบุกขึ้นเชียงใหม่เจรจาซื้อที่ดิน และโรงแรมเชียงใหม่พลาซ่า ส่วนที่ดินเรียบร้อยไปแล้ว 3-4 ไร่ แถวไนท์พลาซ่า ประมาณ 75 ล้านบาท รวมโรงแรมบนเนื้อที่ 5 ไร่ คาดกันว่าคงตกลงกันราคาเกือบ ๆ 300 ล้านบาท
จากนั้นก็ถือว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี ได้หลวมตัวเข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ว่าได้ เพียงแต่ในขณะนั้นเขาแตกต่างจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ตรงที่ในเวลานั้นเขามักไม่นิยมสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินและอาคารที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อมาขายไปซึ่งโมเดลนี้ว่าเป็นโมเดลที่ทันสมัยกว่านักค้าที่ดินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในปี2535-2537 ถือเป็นช่วงที่เจริญยิ่งใหญ่ที่สุด และเป็นการเริ่มยุคใหม่ของธุรกิจที่ทันสมัยมากขึ้น น่าเกรงขามมากขึ้น
เริ่มด้วยการการร่วมทุนกับคาร์ลสเบอร์ก ก่อตั้งโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ที่อยุธยา เผชิญกับบุญรอดบริวเวอร์รี่โดยตรง ซึ่งไม่มีเพียงมีความหมายในการสร้างความมั่นคง จากฐานการค้าสูราซึ่งมีอายุสัมปทานจำกัด ไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ถาวรมากขึ้นเท่านั้น ยัง เป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ต่อสู้อย่างไม่หวั่นเกรงกับเบียร์สิงห์ ผู้ครองแชมป์ตลอดกาลของวงการเบียร์ไทยซึ่งมีอิทธิลพอย่างสูง
โรงงานเบียร์เริ่มสร้างในปี2534และเปิดตลาดในปี2536
การซื้อโรงแรมในเครืออิมพีเรียลจากอาการ ฮุนตระกูล มูลค่ากว่า2000ล้านบาท ในกลางปี2537 เป็นพัฒนาการจากนักค้าที่ดินมาเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่ง ย่อมมีความหมาย เพิ่มขึ้นอีกว่าเขากำลังเข้าสู่ธุรกิจบริการใหม่ที่ต้องมีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะแข่งขันกับเชนต่างประเทศที่บริหารโรงแรมใหญ่และมีชื่อเสียงอยู่ในเมืองไทยขณะนั้น
ในเวลาเดียวก็เริ่มพัฒนาธุรกิจการเงินและหลักทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ มรดกสำคัญของพ่อตา โดยการทุ่มซื้อตัวมืออาชีพในราคาแพงอย่างขนานใหญ่ เพื่อเข้าสู่ธุรกิจที่กำลังหาเงินได้ง่ายที่สุด ถึงแม้จะเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างช้าไปก็ตาม
เจริญในช่วงนั้นรอบข้างของเขามีมืออาชีพมากมาย ตั้งแต่ทีมงานการตลาด จากอดีตผู้บริหารบริษัทเชลล์ฯมาจนทีมงานMBAกลุ่มใหญ่
ด้านหนึ่งกลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดีกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาอาณาจักรธุรกิจอย่างมีอนาคตให้สอดคล้องกับสังคมเศรษฐกิจที่พัฒนาไป แต่อีกด้านเขากำลังเผชิญของ”ความเป็นจริง”ของธุรกิจ ที่มากกว่า “การวิ่งเต้น”เพื่อให้สัมปทานสุรา หรือใช้เงินทุ่มซื้อหุ้นหรือที่ดินเหมือนที่เขาทำสำเร็จมาแล้ว
ความเสี่ยงจึงเริ่มต้นขึ้น
3 ปรากฏการณ์สั่นไหว
การปรากฏตัวของเจริญ สิริวัฒนภักดี และภรรยา เพื่อเปิดแถลงข่าวประกาศจะทำการเพิ่มทุนบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ เป็นความพยายามเพื่อให้หลุดพ้นภาวการณ์ถูกระงับกิจการ ในฐานะเป็นไฟแนนซ์ที่มีปัญหานั้น (18 สิงหาคม 2540) ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความหมายมากกว่าสิ่งที่พวกเขาแถลงอย่างเป็นทางการ ต่อสื่อมวลชน
เป็นความเคลื่อนไหวที่ควรตีความมากกว่า ความพยามอุ้มกิจการไฟแนน์ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งภายใต้อาณาจักรของเจริญซึ่งใหญ่โตนัก กิจการนี้มีความหมายต่อประวัติศาสตร์ การเจริญเติบโตของธุรกิจของเขามากทีเดียว
นั่นคืออาการหวั่นไหวของเจริญ สิริวัฒนภักดี ครั้งแรกและครั้งสำคัญ
มหาธนกิจเดิมชื่อธนพัฒนาทรัสต์ ก่อตั้งเมื่อปี2515โดยกึ้งจู แซ่จิว (พ่อตาของเจริญ สิริวัฒนภักดี) กับคำรณ เตชะไพบูลย์ (โคโร่) ในช่วงเดียวที่โคโร่กำลังจะเปลี่ยนฐานะจากผู้จัดการแบงก์ศรีนคร สาขาประตูน้ำ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แบงก์มหานคร และเป็นผู้จัดการใหญ่ เทึยบเคียงบารมีพี่ชาย –อุเทน เตชะไพบูลย์ แห่งแบงก์ศรีนคร
ต่อมาปี2522ธนพัฒน์ทรัสต์ ก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจในช่วงที่รัฐบาลแจกใบอนุญาต ธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ ขนานใหญ่
กิจการนี้ เป็นกลไกการเงินสำคัญขอกลุ่มเจริญ ในฐานะที่พ่อตาของเขามีส่วนสนับสนุนและชักจูงเข้าเข้าสู่วงการธุรกิจอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะในการเข้าสู่ธุรกิจค้าสุราอย่างจริงจังในปี2526 ในการเข้ายึดกิจการผลิตสุรา12โรงในต่างจังหวัด
กึ้งจู ซื้อกิจการมหาธนกิจมาจากโคโร ก่อนที่แบงก์มหานครจะมีปัญหาและแบงก์ชาติเข้าควบคุมกิจการ จนทำให้โคโร่ต้องหนีไปต่างประเทศ
จากมหาธนกิจ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจริญ เป็นคนสุดท้ายในสังคมธุรกิจ ที่ข้ามผ่านระบบสัมปทานที่มีความเสี่ยงสูง มาสู่ระบบธนาคารที่มั่นคง ด้วยเข้าถือใหญ่ในแบงก์มหานครในปีนั้นเอง ทั้งๆที่ระบบธนาคารไทย ปิดตายสำหรับคนนอกมาครึ่งศตวรรษ
ในช่วงเวลาเพียง10ปีอาณาจักรธุรกิจของเจริญเติบโตอย่างมาก โลดโผนอย่างมาก กลายเป็นตัวละครแสดงบทเร้าใจมีสีสันเสมอ ขณะเดียวกันเขาเริ่มรู้สึกว่า เมื่อข้ามพรมแดนธุรกิจครั้งใหญ่จากการผูกขาดมาสู่ระบบเสรีนั้น ไม่ง่าย แม้ว่าเค้าหน้าตักมากเพียงใด
ตั้งแต่เข้าร่วมมือกับเดนมาร์กในการผลิตเบียร์คาร์ลเบิร์ก และเบียร์ช้างเพื่อขยายฐานธุรกิจน้ำมีอัลกอฮอล เขาก็ยังไม่สามารถเอาชนะบุญรอดบริวเวอรรี่ เจ้าของเบียรสิงห์ การต่อสู้ทางธุรกิจครั้งนั้นหนักหนามาก และได้สร้างภาระไว้มากเอาการ
ธุรกิจซื้อมาขายไปในอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรมซึ่งเป็นแขนงธุรกิจที่ลงเงินอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเงินสดจากธุรกิจสุรามีมากพอ และนำที่ดินจำนวนมากไปค้ำประกัน นำเงินออกจากแบงก์มาได้ ก็ย่อมมีปัญหาจากภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์วิกฤติ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นด้วย
กิจการหลักในการผลิตสุรานั้น แม้จะเป็นแหล่งระดมเงินสดที่สำคัญ แต่ก็ถดถอยไปมากจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปนิยมของนอก ซึ่งมีสินค้าหลากหลายมากขึ้นในสังคมไทย แม้จะคาดจากนี้ไป หลัง เงินบาทลอยตัว น่าจะขายดีขึ้นบ้าง แต่ธุรกิจนี้ก็เริ่มสั่นคลอน เนื่องจากอายุสัมปทานจะหมดลงในปี2542 จากนั้น จะเปิดศักราชใหม่ของการค้าเสรีอย่างจริงจัง
ธุรกิจธนาคารจากนี้ไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว จากการเข้าบริหารเศรษฐกิจประเทศไทยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ย่อมจะนำมาตรฐานทางบัญชีใหม่ ที่เข้มงวดมากำกับระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ และมาตรฐานอันเข้มข้นในเรื่องความมั่นคงของธนาคาร ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งระบบธนาคารไทยไม่เคยทำได้มาก่อน แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะที่ดีก็ตาม ยิ่งเมื่อถูกบังคับในสถานการณ์ที่ยำ่แย่ย่อมจะเป็นภาระต่อเจ้าของและผู้ถือหุ้นอย่างหนักหนาสาหัสทีเดียว
เนื่องจากนี้ทำให้การเมืองในระบบเดิมมีอำนาจน้อยลง นโยบายที่เอาทรัพยากรของสังคมมาคัำธุรกิจธนาคาร เช่นที่ผ่านมาย่อมทำไม่ได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันอย่างเสรีกับธนาคารต่างประเทศซึ่งมีความรู้และเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากกว่า เป็นเรื่องที่ธุรกิจทั้งระบบจะถูกสั่นคลอนอย่างถึงราก
ภาระอันหนักอึ้งในการรักษาความมั่นคงธุรกิจของเขาไว้ของผู้ประกอบการคนสุดท้าย ที่เข้าไปอยู่วงในสังคมธุรกิจนั้นจึงเริ่มต้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
นั่นคือปรากฏการณ์ความหวั่นไหวของผู้เคยมั่นคงคนหนึ่งในสังคมธุรกิจไทย ซึ่งในที่สุดความหวั่นไหวนั้นก็เป็นเรื่องจริงขึ้นมา เมื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจถูกสั่งปิดไปอย่างถาวรเมือต้นเดือนธันวาคม2540 ซึ่งถือเป็นครั้งที่เจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องสูญเสียกิจการสำคัญ แห่งหนึ่งไป
เท่านั้นยังไม่พอ ธนาคารมหานครใจกลางความเข้มแข็งธุรกิจของอาณาจักร เจริญ สิริวัฒนภักดีก็เริ่มมีอาการสั่นไหวครั้งใหญ่ตามมาเป็นละลอกเช่นเดียวกัน
เริ่มตั้งแต่การประกาศมีข้อตกลงในเบื้องต้นกับซิตี้แบงก์ในการดำเนินกระบวนการเข้าร่วมทุนกัน โดยซิตี้แบงก์มีเป้าหมายจะถือหุ้นมากกว่า50%
ในระหว่างการประเมินทรัพย์สินก่อนการร่วมทุน เศรษฐกิจก็เริ่มวิกฤติมากขึ้นๆ ในที่สุด เจริญ สิริวัฒนภักดี จำเป็นต้อง”ผ่าตัด” ทำศัลยกรรมธนาคารด้วยตนเองและแรงบีบคั้นจากธนาคารชาติ ด้วยการรื้อโครงสร้างการจัดการครั้งใหญ่ ด้วยการนำคนของทางการเข้ามาบริหารแทนคนของเขา ในเบื้องต้นเพื่อเป็นการ”ตกแต่ง” ให้น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้ร่วมทุน เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2540 แต่ในที่สุดก็พบว่าการทำศัลยกรรมเพื่อความงามอย่างผิวเผินนั้น ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว
ในที่สุดธนาคารชาติเมื่อธันวาคม 2541ก็ต้องส่งทีมงานบริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของสิริวุทธ์ เสียมภักดี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทย เข้ามาดูแลอาการซึ่งจะต้องทำมากกว่า”แต่งหน้า”ธรรมดาเสียแล้ว
เชื่อเหลือเกินว่า เจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่สามารถนำเงินจากธนาคารมหานคร ออกมาเพื่อความดำรงอยู่ของอาณาจักรธุรกิจอย่างที่ต้องการเช่นเดิมอีกแล้ว แม้จะเป็นช่วงที่จำเป็นมากมายเพียงใดก็ตาม
4ต่อสู้เพื่อรักษาฐานเดิม
ในปี2541 ปีนี้ที่เจริญ สิริวัฒนภักดี ต้องกลับไปสู่ฐานเดิมอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมเช่นปี2530อีกแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่มีค่าสำหรับเขาอยู่บ้าง
นั่นคือธุรกิจค้าสุราและเบียร์ ซึ่งถือเป็นเพียงธุรกิจที่เป็นจริงของเขาที่เหลืออยู่ และเป็นธุรกิจที่เขาเองมีประสบการณ์โดยตรงมายาวนานมากกว่า50ปี
ส่วนธุรกิจการเงินและธนาคารนั้น แม้จะเป็นหัวใจที่โลดแล่นอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้เขารุ่งโรจน์ และน่าเกรงขามที่สุดในช่วงเกือบๆ10ปีที่ผ่านมานั้น เขารักษาไว้ไม่ได้เสียแล้ว
นี่มิใช่คำทำนาย หากเป็นเรื่องจริงแล้ว บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ถูกปิด
ส่วนธนาคารมหานครเขาเองก็ตั้งใจจะขายหุ้นข้างมากให้กับซิตี้แบงก์ นั่นคือป้าหมายการละทิ้งประโยชน์”เครื่องมือสำคัญที่สุด”ของการสะสมความยิ่งใหญ่ทางธุรกิจไป โดยสิ่งหลัง(ธนาคาร) เขาหวังเพียงประโยชน์ในฐานะผู้ลงทุนเท่านั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่สำคัญในการยอมรับความจริง
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจซึ่งเป็นมรดกสำคัญของพ่อตาของเขา เจริญ สิริวัฒนภักดี ก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้ ทั้งๆที่ใช้เงินไม่มากนัก ในที่สุดต้องปิดกิจการไปย่างถาวรเมื่อวันที่8 ธันวาคม 2541
กิจการแห่งนี้ดูเหมือนเขาตั้งใจจะปั้นกิจการให้พัฒนาขึ้น หลังจากการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของกึ้งจู แซ่จิว พ่อตาของเขาเมื่อวันที่17 สิงหาคม 2536 โดยการนำทีมมืออาชีพชุดใหญ่ เข้ามาตั้งแต่1ตุลาคม2537 นำโดย เทพ รุ่งธนาภิรมย์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย ซึ่งตามมาด้วยมืออาชีพด้านหุ้น และวาณิชธนกิจ แต่ในที่สุด พวกเขาก็เผชิญความขัดแย้งกันเอง และมีขัดแย้งกับระบบที่ล้าหลัง ของกิจการครอบครัว ตั้งแต่กลางปี2539 มืออาชีพทั้งหลาย ที่จ้างมาด้วยราคาแพงลิ่วก็ต้องลาออกไป รวมทั้งเทพ รุ่งธนาภิรมย์ด้วย
ความพยายามในการบริหารกิจการสมัยใหม่ให้มีมาตรฐานมากขึ้น ล้มเหลวลง น่าจะเป็นสัญญาณว่า การบริการกิจการในธุรกิจใหม่ๆนั้น เป็นสิ่งยากยิ่งสำหรับ เจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเฉพาะบทเรียนที่ว่า เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งการบริหารที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่26 พฤศจิกายน2540 ธนาคารมหานคร ร่วมลงนามบันทึก ความเข้าใจ (MOU) กับซิตี้แบงก์ในการเริ่มกระบวนการให้เข้ามาถือหุ้น50.1% ถือเป็นที่มาของการวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ว่า ฐานะของเจริญ สิริวัฒนภักดีนั้น อ่อนแอลงอย่างมาก
“นายเจริญ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทจากเดิมเป็นลอยตัว” อุทัย อัครพัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารมหานคร ซึ่งถือเป็นมืออาชีพใกล้ชิดเจริญมากที่สุดอรรถาธิบายด้วย เหตุผลที่กว้างที่สุด ถึงฐานะที่เป็นจริงของอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่กำลังเริ่มสั่นคลอน
เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ายึดฐานธุรกิจสุรา ซึ่งเป็นธุรกิจผูกขาดที่ทำเงินมหาศาล ทั้งๆที่เขาจะต้องจ่ายค่าสัมปทานปีละนับหมื่นล้านบาทให้รัฐก็ตาม เนื่องจากเขารู้ดี ว่าการแข่งขันเพื่อยึดสัมปทานที่จะหมดในปี2542 เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง จำเป็นต้องวางยุทธ์ศาสตร์ทางธุรกิจใหม่
จากจุดนี้เขาจึงเริ่มกระบวนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ โชคดีที่เข้าท่าธุรกิจธนาคาร และการเงินได้ ทั้งๆที่ธุรกิจนี้ปิดตายสำหรับคนนอก แต่ทว่าบางคนมองว่า เขาไม่เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่และสำคัญอย่างยิ่งของธุรกิจอย่างถ่องแท้ เขามองธุรกิจนี้มิใช่ธุรกิจทีเป็นแกนใหม่ของอาณาจักรของเขา หากถือเป็นเพียงเครื่องมือในการระดมเงินไปสู่การขยายอาณาจักร ที่ดูเหมือนจะไร้ทิศทางพอสมควร
ธุรกิจที่เขาตั้งใจอย่างมากอย่างหนึ่งก็คือการผลิตและจำหน่ายเบียร์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับฐานเดิม โดยไม่คาดคิด ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเต็มที่
จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจการเก็งกำไรตามยุคสมัยของการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ ที่ในช่วง5ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งได้เงินมาง่ายๆ ในคือในช่วงแรก (ปี2530-2535) การระดมซื้อที่ดินจำนวนมาก เพื่อซื้อมาขายไป จากนั้นจึงผลัดกันต้องเข้าส่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม ซึ่งเท่าที่ผ่านมา ยังไม่ถือว่า เขามีทีมงานบริหาร ที่ประสพความสำเร็จ
ช่วงที่สอง(ปี2535-2538) การเข้าสู่การลงทุนกิจการในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มด้วยการกว้านซื้อในกิจการหลักๆ โดยเฉพาะหุ้นธนาคาร ตั้งแต่กรุงเทพพาณิชยการ กรุงศรีอยุธยา เอเชีย ฯลฯ หรือแม้แต่ศรีนคร จากนั้นก็เข้าสู่ธุรกิจดาวรุ่งโดยเฉพาะสื่อสาร
คาดกันว่าเจริญ สิริวัฒนภักดี ในปี2539 เขามีเงินลงทุนที่จมอยู่กับ ตลาดหุ้น ในกิจการมากกว่า80บริษัท เป็นเงินประมาณ20, 000ล้านบาท ซึ่งถือเป็นพอร์ทการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้
นี่ก็อาจจะเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่ง ในการพัฒนาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ในฐานะเครื่องมือใหม่โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งธนาคารมีขีดจำกัด
แรงเหวี่ยงของการขยายอาณาจักรอย่างรวดเร็ว และรุนแรง สร้างปัญหามากกว่า ที่คนคาดกันไว้
หนึ่ง-ธรกิจหลัก ค้าสุรา แม้จะเป็นแหล่งระดมเงินสดระดับหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ ก็ไม่มากพอจะหล่อเลี้ยงธุรกิจอื่นๆซึ่งขยายตัวไปอย่างมากมาก และกำลังตกต่ำ มิหนำซ้ำ ต้องคำ้จุนธุรกิจเบียร์ในยุคเริ่มต้น ซึ่งเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง กับMARKET LEADER อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ด้วย
สอง-ราคาที่ดินต่ำลงอย่างมาก การเก็งกำไรไม่เป็นผล เท่านั้นยังไม่พอ หลักทรัพย์ ที่คำ้ประกันอยู่กับ ธนาคารโดยเฉพาะธนาคารของตนเองก็มีมูลค่าลดลง ในขณะเดียวกันระบบธนาคารไทยกำลังถูกบังคับให้ปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น ตามมาตรฐานBIS ผลสุดท้าย จึงมาสั่นคลอนความมั่นคงของธนาคาร
สาม-เช่นเดียวกับราคาหุ้น ที่ตกต่ำอย่างรุนแรงมาตั้งแต่กลางปี2539 ทำให้สินทรัพย์ของเขามีค่าลดลง นอกจากจะทำให้คุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคาร ด้อยลงแล้ว เขาเองก็ไม่สามารถแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่เป็นเงินสด ในยามที่จำเป็น มากขึ้นด้วย
นี่คือเหตุและปัจจัยสำคัญๆ ที่ทำให้เขาต้องธุรกิจธนาคารหลุดมือไป
ขณะนั้นก็เพียงภาวนาให้ซิตี้แบงก์เข้ามาถือ หุ้น50.1%ก็ถือว่า เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ บทเรียนการลดทุนครั้งใหญ่ในธนาคารศรีนคร ทำให้ตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งถือเป็นแม่แบบในการขยายอาณาจักรของเจริญ สิริวัฒนภักดี นั้นต้องปิดฉากธุรกิจหลักของเขาไป ทั้งๆที่สร้างมาแล้ว เกือบๆ50ปี
ไม่เพียงทำให้หุ้นของเขาในธนาคารศรีนคร ไม่มีมูลค่าเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์นั้น คือ สัญญาณเตือนภัย ที่กดดันเขายิ่งนัก
ในที่สุดสิ่งที่คาดก็เกิดขึ้นจริง6 กุมภาพันธ์ 2541 ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศให้ธนาคารลดทุนเหลือหุ้นละ1สตางค์ ทำให้ทางการเข้าถือหุ้นประมาณ99% เช่นเดียวกับธนาคารศรีนคร ซึ่งหมายความว่า กลุ่มเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกต่อไป และไม่มีอำนาจในการบริหารธนาคารแห่งนี้อีก
พร้อมๆกับตำนาน”ผู้มาใหม่”คนสุดท้ายของระบบธนาคารไทยยุคเก่า ก็ได้ปิดฉากลง
ภาคผนวก —ธนาคารมหานคร
เดิมชื่อธนาคารตันเปงชุน ก่อตั้งเมื่อปี2477 เป็นธนาคารเก่าแก่ แห่งที่สาม และถือกำเนิด โดยชาวจีนโพ้นทะเลยุคแรกๆ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ ในยุคธนาคารอาณานิคมยังครอบงำสังคมไทย อยู่
กลุ่มผู้ก่อตั้งประกอบด้วย ตันฮวงงี้ ตันเกงตุ้น ตันลินเจียง ตันเต็กหมง ตันยูเฮา ฉิวหลักสือ และโกยโต๊ะเม้ง
ธนาคารเล็กๆแห่งนี้ดำเนินไปอย่างเงียบๆ จนถึงปี2503 ก็เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา โดยมีคุณ คุณผลิน เป็นผู้บริหาร
ปี2514 ธนาคารแห่งนี้มีปัญหาหนี้เสียครั้งใหญ่ถึง400ล้านบาท ทำให้ธนาคารจะไปไม่รอด กระทรวงการคลัง ธนาคารไทยแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ที่มีอุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธาน ร่วมมือกันลงขันเมื่อกอบกู้ คำรณ เตชะไพบูลย์ น้องชาย อุเทน ก็ถูกส่งเข้ามาบริหารงาน ร่วมกับคนอื่นๆ เช่น สนอง ตู้จินดา อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ จากธนาคารแหลมทอง ดุษฎี สวัสดิชูโต จากธนาคารชาติ
และแล้วคำรณ เตชะไพบูลย์ สามารถเข้าครอบครองหุ้นส่วนใหญ่ ของธนาคารในเวลาต่อมา ในปี2520 เขาก็เปลี่ยนชื่อจากธนาคารไทยพัฒนาเป็นมหานคร
ธนาคารมหานคร มีความสัมพันธ์กับธนาคารศรีนครมากทีเดียว ในตอนที่คำรณ เข้าถือหุ้นใหญ่นั้น ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของเตชะไพบูลย์ที่มีอุเทน เตชะไพบูลย์เป็นผู้นำกำลังยิ่งใหญ่มาก
จากนั้นเพียง8ปี ธนาคารมหานคร ภายใต้การบริหารของคำรณ ก็มีปัญหา ร้ายแรง ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง นอกจากปัญหาคลาสสิคของธนาคารที่มีหนี้เสีย อันเนื่องมาจาก
ปล่อยกู้ให้กับพวกพ้องแล้ว ยังมีปัญหามาจาการขาดทุน จากการค้าเงินตราจำนวนมาก ในระยะแรก คำรณ ้เชิญ ปกรณ์ มาลากุล จากแบงก์ชาติเข้ามาบริหาร แต่ในที่สุดธนาคารชาติเข้าควบคุมกิจการ สั่งลดทุน
สัญญาณการเข้ายึดธนาคารมหานครของทางการในครั้งนั้น ส่งสัญญาณที่ส่งผลกระทบต่อธนาคารศรีนครด้วย ท่ามกลางการต่อสู้อย่างหนักในธุรกิจสุราที่เตชะไพบูลย์กำลังตกที่นั่งลำบากด้วยแต่ที่สำคัญกลุ่มที่เตชะไพบูลย์ต่อสู้นั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือเจริญ สิริวัฒนภักดี
และในที่สุด ระหว่างนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งโดย กลุ่มพันธมิตรเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาซื้อหุ้นจากกลุ่มคำรณ ทำการเพิ่มทุนและปรับปรุงการบริหาร ในปี2530 จากนั้นมาธนาคารมหานคร ก็ดำเนินธุรกิจ ไปตามยุทธ์ศาสตร์ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เพียง10ปีก็ต้องถูกทางการ เข้าควบคุมกิจการ ด้วยการลดทุนโดยแยกสินทรัพย์ที่ดีไปรวมกับ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งก็ถือว่าตำนานของธนาคารหลายซื่อก็ปิดฉากลงแล้ว