Source: แอน จักรพงษ์ กับเส้นทางของ JKN เริ่มนับหนึ่งเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ
11 พ.ย. 66
การล้มละลายหมายถึงธุรกิจของคุณล้มหายไปเลย แต่กรณีการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ นั่น หมายความว่า JKN มีเป้าหมายที่จะรักษาความต่อเนื่องและความสมบูรณ์ของธุรกิจต่อไป เปิดโอกาสให้ JKN สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับเจ้าหนี้และนักลงทุนผ่านความพยายามในการปรับโครงสร้างกิจการใหม่ JKN มีความแน่วแน่ในการเข้าสู่กระบวนการนี้และยังคงมุ่งมั่นที่รักษาความแข็งแกร็งของบริษัทให้มากขึ้น ด้วยการชำระหนี้ทั้งหมด และคาดหวังกับอนาคตทางการเงินที่มั่นคงรออยู่ข้างหน้า
กรณีการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของ ของ JKN หรือ บริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ของคุณ แอน จักรพงษ์ ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น JKN ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 9 และ ศุกร์ ที่ 10 พ.ย. 66 ให้ร่วงลงอย่างหนักติดฟลอร์ 2 วัน โดยราคาปิดเมื่อวันศุกร์อีก 0.23 บาท หรือ 30.26% อยู่ที่ 0.53 บาทต่อหุ้น
ซึ่งเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) หุ้น JKN เพื่อให้นักลงทุนระมัดระวังการซื้อขาย ซึ่งหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance (คือ สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์นั้น) ตั้งแต่วันที่ขึ้นเครื่องหมายเป็นต้นไป จนกว่าจะแก้เหตุดังกล่าวได้
ทั้งนี้กระบวนการยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของ JKN อาจทำให้หลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะของบริษัท จนทำให้คุณ แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ได้ระบุใน IG ส่วนตัวว่า
“ การล้มละลายหมายถึงธุรกิจของคุณล้มหายไปเลย แต่กรณีการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ นั่น หมายความว่า JKN มีเป้าหมายที่จะรักษาความต่อเนื่องและความสมบูรณ์ของธุรกิจต่อไป เปิดโอกาสให้ JKN สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับเจ้าหนี้และนักลงทุนผ่านความพยายามในการปรับโครงสร้างกิจการใหม่ JKN มีความแน่วแน่ในการเข้าสู่กระบวนการนี้และยังคงมุ่งมั่นที่รักษาความแข็งแกร็งของบริษัทให้มากขึ้น ด้วยการชำระหนี้ทั้งหมด และคาดหวังกับอนาคตทางการเงินที่มั่นคงรออยู่ข้างหน้า”
เช่นเดียวกับทางบริษัท JKN ก็ได้ชี้แจงว่า
เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องบริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอเรียนชี้แจงว่า ทางบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ มิใช่ การยื่นขอล้มละลายแต่อย่างใด
บริษัทเจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอให้ความมั่นใจว่าเรายึดมั่นในกระบวนการการฟื้นฟูกิจการ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับ และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
โดยระหว่างอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทยังสามารถ ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และจะพยายามแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัท ชำระคืนหนี้สิน และปรับปรุงกิจการเพื่อสร้างผลกำไรเพื่อความมั่นคงของกิจการ
อย่างไรก็ตามการยื่นฟื้นฟูกิจการและการยื่นล้มละลาย ไม่ใช่กระบวนการเดียวกันและมีวิธีการดำเนินการ และให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน แม้จะยื่นดำเนินการภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันคือพระราชบัญญัติล้มละลาย
กระบวนการฟิ้นฟูกิจการของ JKN จะเป็นอย่างไร?
สำหรับการยื่นฟื้นฟูกิจการอย่างที่ JKN ทำนั้น ตามกฎหมายการฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้/ลูกหนี้ ปี 2541 ผู้ที่มีสิทธิในการขอฟื้นฟูกิจการได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ คือ
- มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และมีช่องทางและเหตุสมควรในการฟื้นฟูกิจการ หากเข้าเกณฑ์นี้ ลูกหนี้สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลางได้
- และเมื่อยื่นคำขอไป และศาลมีคำสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการแล้ว กิจการนั้นก็จะเข้าสู่ภาวะการพักชำระหนี้ หรือ automatic stay ทันที จนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
ซึ่งภาวะการพักชำระหนี้นี้จะเปิดโอกาสให้ กิจการดำเนินต่อไปได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ และดำเนินธุรกิจเพื่อหารายได้ต่อไปได้โดยไม่ต้องมากังวลกับสภาพหนี้ที่มีอยู่แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่ออยู่ในสภาวะนี้กิจการจะทำอะไรตามใจได้ทุกอย่าง เพราะถ้าหากจะขาย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ หรือก่อหนี้เพิ่มก็ต้องขออนุญาตศาลก่อน - และเมื่อยื่นฟื้นฟูกิจการไปแล้ว 2 คนที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญก็คือผู้ทำแผน และผู้บริหารแผน
โดยผู้ทำแผนนี้จะมีหน้าที่ทำแผนฟื้นฟูกิจการให้กับบริษัท ถูกเสนอชื่อโดยเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ และถูกแต่งตั้งโดยศาล ซึ่งจะต้องเข้ามาพิจารราว่าคนคนนั้นมีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการทำแผนงานดักล่าวจริงหรือไม่ ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่นี้ส่วนมากจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาทางบัญชี หรือที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่มีประสบการณ์ในการจัดการกิจการที่มีหนี้สินมาก่อน และเมื่อมีการจัดทำแผน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ และได้รับความเห็นชอบจากศาลแล้ว สิทธิและอำนาจหน้าที่ให้การดูแลกระบวนการฟื้นฟูจะถูกส่งผ่านไปยัง ‘ผู้บริหารแผน’ ซึ่งผู้บริหารแผนนี้จะเป็นผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะต้องมีทั้งหลักการและวิธีการในการฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการชำระหนี้ การยืดกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ แผนในการลดทุนเพิ่มทุน การก่อหนี้และลดหนี้ในอนาคต เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล รวมไปถึงแผนสำรองหากเกิดสภาพคล่องขึ้นอีกในระหว่างฟื้นฟู
นี่ทำให้สุดท้ายหากผ่านกระบวนการนี้ ธุรกิจที่มีปัญหาหนี้ก็มีโอกาสรอดพ้นวิกฤตและดำเนินกิจการต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องปิดกิจการไปซึ่งส่งผลดีต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพราะด้วยวิธีการนี้เจ้าหนี้มักจะได้เงินคืนมากกว่าการให้ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วนำทรัพย์สินที่เหลือของลูกหนี้ไปจัดการแบ่งหรือขายเพื่อเอามาแบ่งใช้หนี้
นอกจากนี้เมื่อผ่านกระบวนการนี้ไปแล้ว และเห็นว่ากระบวนการดำเนินไปได้ด้วยดี ศาลก็จะสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และปล่อยให้ลูกหนี้หรือเจ้าของกิจการเดิมกลับมามีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัทต่อเหมือนเดิม
- ส่วนการถูกฟ้องล้มละลาย ในทางกฏหมายแล้วนั้นศาลมีคำสั่งฟ้องล้มละลายและเกิดกระบวนการพิทักษ์ทรัยพ์ขึ้น ทรัพย์สินต่างๆของธุรกิจที่ถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นถูกนำไปขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาคืนเจ้าหนี้ ซึ่งนั่นแปลว่า เจ้าของกิจการไม่สามารถทำธุรกิจอีกต่อไปได้
สำหรับ JKN ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย.66 และมีการกำหนดวันไต่สวนคำร้องในวันที่ 29 มกราคม 2567 ซึ่งตามกระบวนการทางกฏหมายแล้วเท่ากับ JKN เพิ่งเข้าสู่กระบวนการเริ่มต้นเท่านั้น
ตัวอย่างบริษัทที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เช่น การบินไทย ซึ่งเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเราคงจะได้เห็นข่าวการปรับโครงสร้างองค์กร การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การปรับโครงสร้างหนี้และล่าสุดการบินไทย ประกาศว่า บริษัทจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูได้ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในปี 2569 เป็นต้น
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานสถานะทางการเงินของ JKN ดังนี้
ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 66
รายได้รวม 1,500.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.86% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
กำไรสุทธิ 121.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.24% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
สินทรัพย์รวม 12,161.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.36% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
หนี้สินรวม 7,398.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.34% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน