Source: คู่มือความรู้พื้นฐานฉบับย่อ สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 – BBC News ไทย
ชาวอเมริกันกำลังจะไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันอังคารที่ 5 พ.ย. ที่จะถึงนี้ โดยทั่วโลกต่างพากันจับตามองว่า ใครจะได้ขึ้นครองตำแหน่งผู้นำของชาติมหาอำนาจเป็นคนต่อไป
ในวันเดียวกันกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชาวอเมริกันในรัฐต่าง ๆ ยังต้องลงคะแนนเลือกสมาชิกรัฐสภาหรือสภาคองเกรส ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนในการทำหน้าที่ออกกฎหมาย ทั้งยังมีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของชาวอเมริกันทั่วไปด้วย
การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใด ?
ในวันอังคารที่ 5 พ.ย. 2024 ซึ่งกำลังใกล้เข้ามานี้ ผู้ที่คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันดังกล่าว จะได้ดำรงตำแหน่งผู้นำและเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศใน “ทำเนียบขาว” หรือทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเวลา 1 สมัย หรือ 4 ปีเต็ม โดยวาระการดำรงตำแหน่งจะเริ่มขึ้นในเดือน ม.ค. ปี 2025
แม้จะทำหน้าที่ด้านการบริหารประเทศเป็นหลัก แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็มีอำนาจในการออกกฎหมายด้วยตนเองได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ในกรณีทั่วไปแล้วผู้นำสหรัฐฯ มักจะต้องหารือและทำงานร่วมกับสภาคองเกรสเป็นหลัก หากต้องการจะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่ง
ส่วนบทบาทของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวทีการเมืองระดับโลกนั้น ผู้นำสหรัฐฯ มีเสรีภาพพอสมควรในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งมีเสรีภาพในการแสดงบทบาทเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ขณะที่มีการติดต่อกับต่างชาติด้วย
ผู้สมัครคือใครและได้รับการเสนอชื่อมาอย่างไร ?
สองพรรคการเมืองหลักของสหรัฐฯ จะเสนอชื่อตัวแทนของตนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่งผู้นำประเทศ โดยการเสนอชื่อนี้มาจากการลงคะแนนเสียงขั้นต้นติดต่อกันหลายครั้งในแต่ละรัฐ ซึ่งเรียกว่า “ไพรมารี” (primaries) และ “คอคัส” (caucuses) โดยประชาชนที่เป็นสมาชิกของแต่ละพรรคจะแสดงเจตจำนงว่า ต้องการให้ใครเป็นผู้นำของพรรคตนเพื่อลงชิงชัยในศึกเลือกตั้งทั่วไป
ในฝั่งของพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเสียงสนับสนุนเหนือคู่แข่งอย่างถล่มทลายจากสมาชิกพรรค จนได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันอย่างเป็นทางการ ในการประชุมใหญ่ที่เมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน โดยทรัมป์ได้เลือกนายเจดี แวนซ์ วุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอ เป็นคู่ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย
ด้านพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขอถอนตัว และไม่มีผู้ใดในพรรคเดโมแครตคัดค้านหรือเสนอตัวแข่งกับแฮร์ริส ส่วนคู่ลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น แฮร์ริสเลือกนายทิม วอลซ์ ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตา
นอกจากตัวแทนพรรคการเมืองหลักทั้งสองแล้ว ยังมีผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองอยู่อีกจำนวนหนึ่ง โดยผู้สมัครอิสระที่โดดเด่นในครั้งนี้ ได้แก่โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ หลานลุงของอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ทว่าในเวลาต่อมาเขาได้ยุติการรณรงค์หาเสียงของตนเองลงเมื่อเดือน ส.ค. แล้วหันมาให้การสนับสนุนทรัมป์แทน
จุดยืนของเดโมแครตและรีพับลิกันต่างกันอย่างไร ?
พรรคเดโมแครตเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม โดยแนวนโยบายและประเด็นทางการเมืองของพรรคส่วนใหญ่ มาจากความพยายามส่งเสริมสิทธิพลเมือง, การผลักดันให้มี “โครงข่ายการคุ้มครองทางสังคม” (social safety net) สำหรับผู้คนในวงกว้าง รวมทั้งวางมาตรการแก้ไขหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ส่วนพรรครีพับลิกันเป็นพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม เนื่องจากมีความเป็นมายาวนานในประวัติศาสตร์จนถูกเรียกขานกันทั่วไปว่า “พรรคเก่าที่ยิ่งใหญ่” (Grand Old Party – GOP) ปัจจุบันพรรครีพับลิกันมีนโยบายลดอัตราการเก็บภาษี, ปรับลดขนาดองค์กรของรัฐบาล, ส่งเสริมสิทธิการถือครองปืน, รวมทั้งเตรียมวางมาตรการที่เข้มงวดขึ้นต่อการตรวจคนเข้าเมืองและการทำแท้ง
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำกันอย่างไร ?
ผู้ชนะการเลือกตั้งไม่ใช่คนที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากชาวอเมริกันทั่วประเทศ แต่เป็นผู้สมัครที่สามารถคว้าคะแนนเสียงจาก “คณะผู้เลือกตั้ง” (electoral college) ในรัฐต่าง ๆ ของประเทศ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 50 รัฐ ได้เป็นจำนวนมากที่สุด
ในแต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกา จะมีจำนวนคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอยู่ไม่เท่ากัน ซึ่งคะแนนนี้ถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายประการรวมถึงจำนวนประชากรด้วย แต่โดยรวมแล้ว ทั้งประเทศจะมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งอยู่ 538 เสียง ซึ่งผู้ชนะจะต้องได้คะแนนในส่วนนี้ 270 เสียงขึ้นไป
การชิงชัยเพื่อคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในเกือบทุกรัฐของประเทศ ใช้แนวทางที่ผู้ชนะซึ่งได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากที่สุด จะได้ครองคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด (winner-takes-all) เว้นแต่ในรัฐเมนและรัฐเนบราสกาที่ไม่ใช้แนวทางนี้
รัฐส่วนใหญ่ของประเทศมักมีแนวโน้มเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองหลักพรรคใดพรรคหนึ่ง จึงค่อนข้างแน่นอนว่าผลการเลือกตั้งในรัฐเหล่านี้จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีบางพื้นที่ในกว่าสิบรัฐของประเทศซึ่งไม่ปรากฏแนวโน้มที่ชัดเจน ทำให้รัฐในกลุ่มนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น “สมรภูมิ” ที่มีการต่อสู้ดุเดือด หรือถูกเรียกขานว่าเป็น “รัฐคะแนนเสียงผันผวน” (swing states)
มีความเป็นไปได้ว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากประชาชนทั่วประเทศ (popular vote) อาจต้องพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะไม่อาจคว้าคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากคณะผู้เลือกตั้งมาครองได้ ตัวอย่างเช่นฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครของพรรคเดโมแครตในปี 2016
ใครบ้างที่มีสิทธิออกเสียงเลือกผู้นำสหรัฐฯ ?
พลเมืองอเมริกันส่วนใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ โดยผู้ที่ต้องการไปใช้สิทธิในทุกรัฐจะต้องลงทะเบียนเอาไว้ล่วงหน้า เว้นแต่ในรัฐนอร์ทดาโกตาเท่านั้น ซึ่งแต่ละรัฐจะมีขั้นตอนการลงทะเบียนเลือกตั้ง และวันเวลาที่ปิดรับการลงทะเบียนดังกล่าวไม่เหมือนกัน
พลเมืองสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศ สามารถลงทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงขอใช้สิทธิออกเสียงทางไปรษณีย์ได้ โดยต้องกรอกแบบฟอร์ม Federal Post Card Application (FPCA) ทางออนไลน์
นอกจากนี้ บางรัฐยังเปิดให้พลเมืองใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ซึ่งรวมถึงรัฐสำคัญในกลุ่มที่มีแนวโน้มคะแนนเสียงผันผวน อย่างเช่นรัฐจอร์เจียและรัฐนอร์ทแคโรไลนาด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสทำกันอย่างไร ?
แม้จุดสนใจของคนส่วนใหญ่จะอยู่ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ในวันเดียวกัน ผู้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็จะได้ลงคะแนนเพื่อเลือกสมาชิกรัฐสภาหรือสภาคองเกรสชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วย
สภาคองเกรสประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจำนวนสมาชิก 435 ที่นั่ง และวุฒิสภาซึ่งมีจำนวนสมาชิก 34 ที่นั่ง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งไปพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งหมด
ปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่วางแผนงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา โดยทำหน้าที่พิจารณาการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐบาลเป็นหลัก
สภาคองเกรสซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังทำหน้าที่ผ่านกฎหมายและสามารถมีบทบาทในการตรวจสอบนโยบายของประธานาธิบดีได้ หากพรรคที่ครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นด้วยกับผู้นำสหรัฐฯ
จะรู้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เมื่อไหร่ ?
ตามปกติแล้วจะมีการประกาศชื่อผู้ชนะในคืนของวันที่ทำการเลือกตั้ง แต่เมื่อปี 2020 เกิดเหตุขัดข้องจนต้องขยายเวลาการนับคะแนนออกไปอีก 2-3 วัน
ช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งหรือที่เรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition) ก่อนที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สามารถเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลชุดใหม่ใช้เพื่อแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี รวมทั้งวางแผนการบริหารประเทศสำหรับวาระการดำรงตำแหน่งที่จะเริ่มต้นขึ้นในไม่ช้า
พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีคนใหม่ จะมีขึ้นในเดือน ม.ค. ของปีหน้า ซึ่งพิธีนี้จะจัดขึ้นบนขั้นบันไดของอาคารรัฐสภา (Capitol building) ในกรุงวอชิงตัน