Source: ปิยบุตร ข้องใจ ถ้าไม่เชื่อว่า กฎหมายป้องกันรัฐประหาร ได้ แล้วเอาไปหาเสียงทำไมใหญ่โต
วันที่ 10 ธันวาคม 2567 – 23:30 น.
FacebookTwitterLINECopy Link
ปิยบุตร ข้องใจ นักการเมืองบางคน ถ้าไม่เชื่อว่า กฎหมายป้องกันรัฐประหาร ได้ แล้วเอาไปหาเสียงทำไมใหญ่โต
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า กรณีบรรดานักการเมือง “ดาหน้า” กันออกมาประกาศไม่เอาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ในวันสองวันนี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการพูดกับประชาชน แต่ต้องการพูดให้ชนชั้นนำเจ้าของใบอนุญาตที่ 2 ได้ยินว่า ไม่ว่าอย่างไร ตนยังคงภักดีกับพวกท่าน เพื่อ “ขออนุญาต” ให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป
สำหรับคนเหล่านี้ “ใบอนุญาตที่ 1 จากประชาชน” ไม่ได้มีความสลักสำคัญใดมากไปกว่าเป็น “สะพาน” ให้เหยียบย่ำข้ามผ่านไปเป็นใหญ่เป็นโต เมื่อได้มาพอสังเขป ก็ละทิ้งประชาชนผู้ออกใบอนุญาตใบแรก และเข้าสวามิภักดิ์ ทำตนเป็นเด็กดีต่อผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตที่ 2
ระบบรัฐสภาไทยทุกวันนี้ นักการเมืองได้ฉวยเอา “การเลือกตั้ง” ไปอ้างความชอบธรรมในการมีอำนาจ แต่เมื่อมีอำนาจแล้ว กลับใช้อำนาจเท่าที่เจ้าของใบอนุญาตที่ 2 อนุญาต
“ผู้แทนราษฎร” จึงมิใช่ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” แต่กลายเป็น “ผู้แทนของคนออกใบอนุญาตที่ 2”
ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ต้องร่วมมือกันสั่งสอนนักการเมืองเหล่านี้
จากนั้น นายปิยบุตร ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กอีกว่า ความคิดของนักการเมืองที่เชื่อว่ากฎหมายไม่สามารถป้องกันรัฐประหารได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า นักการเมืองไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อป้องกันรัฐประหาร
ต่อให้พวกเขาไม่เชื่อ แต่การตรากฎหมายเช่นนี้ ก็ไม่เห็นเสียหายตรงไหน หรือทำให้นักการเมืองเสียประโยชน์อย่างไร หรือประเทศชาติเสียหายอย่างไร
ณ วันนี้ เราไม่มีทางพิสูจน์หรอกว่า กฎหมายป้องกันรัฐประหารได้หรือไม่ เพราะ เรายังไม่เคยมีกฎหมายเหล่านั้นแบบครบวงจรสมบูรณ์ (รธน. 17 เคยมีข้อความสั้นๆ แต่ไม่ได้เขียนให้สมบูรณ์ทั้งระบบ)
แต่หากตรากฎหมายเหล่านี้ขึ้น อย่างน้อย วันไหน เกิดมีความพยายามก่อรัฐประหาร ก็จะได้พิสูจน์ และมีโอกาสใช้มาตรการทางกฎหมายต่อต้านป้องกัน
ลองดูมั้ยครับ
เขียนในรัฐธรรมนูญ ทำให้นิรโทษกรรมรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นโมฆะ เอาคนทำรัฐประหารมาดำเนินคดี แบบที่ตุรกี กรีซ อาร์เจนติน่า ทำกัน
ลองดูมั้ยครับ
เขียนในรัฐธรรมนูญให้ข้าราชการทหารและพลเรือนมีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้ไปร่วมรัฐประหาร
ลองดูมั้ยครับ
เขียนในรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้ผู้พิพากษา ตุลาการ ทุกศาล รับรองรัฐประหาร
ลองดูมั้ยครับ
เขียนในรัฐธรรมนูญ หากระบบปกติกลับมาเมื่อไร ให้ดำเนินคดีคนทำรัฐประหารโดยไม่มีอายุความ
ลองดูมั้ยครับ
ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ลองดูมั้ยครับ
ให้รัฐมนตรีคุมนโยบายกลาโหม และแต่งตั้งนายพลได้เอง
ลองดูมั้ยครับ
ยกเลิกกฎหมายกฎอัยการศึก หรือให้นายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีอำนาจประกาศ ห้ามผู้บัญชาการเหล่าทัพประกาศ
ทั้งหมดนี้ อาจบอกกันว่า ยึดอำนาจเสร็จ เขาก็ฉีกกฎหมายทิ้งหมด แต่ลองดูมั้ยล่ะ ถ้ามีเครื่องมือทางกฎหมายเหล่านี้อยู่บ้าง อาจมีทหาร พลเรือน ศาล นักการเมือง เอาเครื่องมือเหล่านี้เป็นหลังพิงให้ลองต่อต้านกันสักตั้ง
หรือลองมีคนทำรัฐประหารต้องขึ้นศาลหรือเข้าคุกสักรอบ จะมีคนทำรัฐประหารอีกมั้ย
สำเร็จหรือไม่ ก็ต้องลองดู
แต่ที่แน่ๆ ถ้านักการเมืองไม่ทำอะไร แล้วอ้างแต่ “เป็นไปไม่ได้” “ไม่จำเป็น” “ไม่สำเร็จ” นั่นแหละ ที่จะไม่มีวันสำเร็จแน่นอน
“ถ้านักการเมืองไม่เชื่อว่า กฎหมายป้องกันรัฐประหารได้ แล้วตอนหาเสียงเลือกตั้ง รอบที่ผ่านมา พรรคที่ตนสังกัดหรือสนับสนุน ใส่มาตรการป้องกันรัฐประหาร ลงไปเป็นนโยบาย และเอาไปหาเสียงเสียใหญ่โตทำไม?” นายปิยบุตรโพสต์ทิ้งท้าย… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4947621