ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรวิจารณ์แผนการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของนาวีแดนโรตี

Source: ผู้เชี่ยวชาญแดนมังกรวิจารณ์แผนการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของนาวีแดนโรตี

เผยแพร่: 1 ธ.ค. 2566 10:24 ปรับปรุง: 1 ธ.ค. 2566 15:18 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เรือบรรทุกเครื่องบินไอเอ็นเอสวิกรานต์ ซึ่งอินเดียต่อได้สำเร็จลำแรก – ภาพ : VCG
เรือบรรทุกเครื่องบินไอเอ็นเอสวิกรานต์ ซึ่งอินเดียต่อได้สำเร็จลำแรก – ภาพ : VCG

อินเดียเตรียมต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองด้วยเหตุผลเพียงเพื่อมีไว้ตอบโต้จีนตามรายงานของบลูมเบิร์กนั้น เป็นแผนการที่เผยให้เห็นถึงการมีวิสัยทัศน์อุโมงค์ (tunnel vision)

บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอังคาร (28 พ.ย.) โดยอ้างแหล่งข่าววงในที่ระบุว่า สภาจัดซื้อด้านกลาโหมของอินเดียคาดให้การอนุมัติการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินมูลค่าราว 4,800 ล้านดอลลาร์ในวันศุกร์ (1ธ.ค.) การมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพิ่มจากที่มีอยู่แล้วคือ เรือไอเอ็นเอสวิกรานต์ (INS Vikrant) ซึ่งอินเดียต่อขึ้นเองได้สำเร็จลำแรก เข้าประจำการเมื่อปี 2565 กับเรือไอเอ็นเอสวิกรมาทิตย์ (INS Vikramaditya ) ซึ่งต่อในรัสเซีย ย่อมแสดงถึงความแข็งแกร่งของกองทัพเรืออินเดียในมหาสมุทรอินเดียในช่วงเวลาที่กองทัพเรือจีนกำลังปรากฏตัวมากขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทวีแสนยานุภาพของพญามังกร

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารคนหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ซึ่งขอไม่เปิดเผยนามให้ความเห็นต่อข่าวนี้ว่า มีประเทศไม่มากนักในโลกที่สามารถต่อเรือบรรทุกเครื่องบินได้เอง ฉะนั้น หากมองในแง่นี้ ย่อมถือว่าอินเดียประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง อินเดียสามารถพัฒนากองทัพเรือของตนเองได้อย่างชอบธรรม แต่หากมียุทธศาสตร์ที่พุ่งเป้ามายังจีนแล้วก็ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่แคบไม่มองให้รอบด้าน (tunnel vision)

เขาระบุว่า จีนแสวงหานโยบายการป้องกันประเทศที่มีลักษณะเป็นการป้องกัน ตราบใดที่อินเดียไม่ยั่วยุก่อน จีนก็หาใช่ศัตรูของอินเดีย นอกจากนั้น กองทัพเรือจีนเข้ามาในมหาสมุทรอินเดียเพื่อภารกิจรักษาความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ ตลอดจนการลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ทั้งนี้ จีนส่งกองกำลังคุ้มกันทางเรือ ซึ่งประกอบด้วยเรือพิฆาต เรือฟริเกต และเรือส่งกำลังบำรุงไปปฏิบัติภารกิจคุ้มกันตามปกติในอ่าวเอเดน และน่านน้ำนอกโซมาเลียอยู่เป็นประจำ แต่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนยังไม่เคยย่างกรายเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียเลย

จีนทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนลงน้ำที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 -ภาพ : VCG
จีนทำพิธีปล่อยเรือบรรทุกเครื่องบินฝูเจี้ยนลงน้ำที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 -ภาพ : VCG

ถ้าอินเดียต่อเรือลำใหม่สำเร็จจะมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำเท่ากับจีน โดยเป็นการต่อเอง 2 ลำเหมือนกัน

เรือบรรทุกเครื่องบินที่อินเดียจะลงมือต่อเองลำที่ 2 มีระวางขับน้ำ 45,000 ตันรองรับเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ได้อย่างน้อย 28 ลำ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ราฟาลของฝรั่งเศส

เปรียบมวยกับ “ฝูเจี้ยน”นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า เรือบรรทุกเครื่องบินที่จีนต่อได้เองเป็นลำที่สองนี้เหนือชั้นกว่าด้วยระวางขับน้ำที่มากกว่า

80,000 ตัน ทั้งยังติดตั้งระบบดีดส่งเครื่องบินด้วยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถปล่อยเครื่องบินรบที่หนักกว่าได้เร็วกว่าการใช้สกีจัมป์แรมป์ (ski-jump ramps)

ส่วนเรือวิกรานต์ทุกวันนี้ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานยังไม่บรรลุถึงขั้นเชื่อถือได้ จึงไม่ใช่คู่ต่อสู้ของ“ซานตง”เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนต่อเอง แม้อินเดียจะเริ่มสร้างก่อนก็ตาม โดยเรือซานตงได้พิสูจน์ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการต่อสู้ในการฝึกซ้อมทางไกลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกหลายครั้งเมื่อปีนี้ นักวิเคราะห์จึงตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมการต่อเรือและของกองทัพเรือแดนโรตี

ข้อมูลจาก “India’s new aircraft carrier plan against China exposes its ‘tunnel vision’” ในโกลบอลไทมส์

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here