Source: เดินวันละหมื่นก้าวเพื่อสุขภาพ สู้เดินเร็วสิบนาทีวันละ 3 ครั้งไม่ได้ – BBC News ไทย
หลายคนคงเคยได้ยินคำแนะนำเพื่อสุขภาพที่บอกต่อกันมาว่า ให้เดินอย่างน้อยวันละ 10,000 ก้าว แล้วจะมีสุขภาพแข็งแรงรวมทั้งช่วยลดน้ำหนัก โดยการออกกำลังกายวิธีนี้จะสามารถเผาผลาญพลังงานได้สูงสุดถึง 500 กิโลแคลอรีต่อครั้งเลยทีเดียว แต่การเดินมากก้าวขนาดนี้ยากเกินกว่าจะปฏิบัติได้จริง และการเดินไม่ถูกวิธีอาจทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควรจริงหรือไม่ ?
อันที่จริงแล้ว ความเชื่อเรื่องการเดินหมื่นก้าวเพื่อสุขภาพ มีต้นกำเนิดมาจากแผนโฆษณาประชาสัมพันธ์ของญี่ปุ่น เพื่อขายอุปกรณ์นับก้าวเดินเพื่อสุขภาพ “มังโปะเก” (Manpokei) ของนายแพทย์โยะชิโระ ฮะตะโนะ ซึ่งคิดค้นขึ้นในช่วงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกกรุงโตเกียวปี 1964 โดยต้องการให้คนญี่ปุ่นออกแรงเดินกันมากขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 4,000 ก้าวต่อวัน เพิ่มเป็นหมื่นก้าวต่อวัน แต่ไม่ได้มีการศึกษาเรื่องผลดีต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจริงจากการเดินแบบนี้กันเท่าใดนัก
รายการ “ความจริงเรื่องการฟิตร่างกาย” (The Truth about Getting Fit) ทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีวัน ได้ทำการทดลองเปรียบเทียบผู้ที่ออกกำลังกายด้วยวิธีเดินให้ได้ 10,000 ก้าวในแต่ละวัน กับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วตามวิธี “แอ็กทีฟเท็น” (Active 10) ซึ่งสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักรแนะนำ เพื่อดูว่ากลุ่มใดจะเห็นผลดีทางสุขภาพเกิดขึ้นมากกว่ากัน
การทดลองครั้งนี้ดำเนินการโดยศาสตราจารย์ร็อบ โคปแลนด์ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ฮัลแลมของสหราชอาณาจักร โดยขออาสาสมัครจากกลุ่มพนักงานของโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองเชฟฟีลด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความกังวลเรื่องสุขภาพความแข็งแรงของร่างกาย หลายคนเป็นผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังเป็นประจำมาก่อน
อาสาสมัครกลุ่มแรกจะได้รับคำสั่งให้เดินให้ได้วันละอย่างน้อย 10,000 ก้าว ซึ่งคิดเป็นระยะทางราว 8 กิโลเมตร และอาจต้องใช้เวลาเดินกว่า 1 ชั่วโมง ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่สองจะได้รับคำสั่งให้เดินเร็วครั้งละ 10 นาที เพียงวันละ 3 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นระยะทางเพียง 2.4 กิโลเมตรเท่านั้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเดินเร็วถึงขั้นหายใจเหนื่อยหอบ จนแทบจะไม่สามารถพูดหรือร้องเพลงไปด้วยได้
ผลการทดลองพบว่า คนกลุ่มแรกที่ต้องเดินวันละหมื่นก้าวนั้น มีเพียง 2 ใน 3 ที่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ในขณะที่คนกลุ่มที่สองซึ่งเดินเร็ว 10 นาที วันละ 3 รอบ สามารถออกกำลังได้สำเร็จตามเป้าหมายทุกคน ทั้งมีช่วงเวลาที่ได้ออกกำลังกายในระดับ “ปานกลางถึงหนักหน่วง” ซึ่งส่งผลดีต่อปอดและหัวใจมากกว่าคนกลุ่มแรกถึง 30%
ศาสตราจารย์โคปแลนด์สรุปผลการทดลองว่า “สิ่งสำคัญของการออกกำลังกายคือต้องให้อวัยวะสำคัญได้ทำงานมากขึ้น แม้คุณจะเดินถึงหมื่นก้าว แต่หากไม่ออกแรงให้มากพอก็จะไม่มีผลดีต่อสุขภาพมากนัก ในทางตรงกันข้าม การออกกำลังกายในระดับปานกลางถึงหนักหน่วงเป็นช่วงสั้น ๆ หลายรอบต่อวัน มีความสะดวกต่อคนทั่วไปมากกว่าและเกิดผลดีต่อสุขภาพมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด”
“การเดินให้เร็วขึ้นจนหัวใจเต้นแรงและหายใจเหนื่อยหอบ จะช่วยลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ เช่นเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ มะเร็งบางชนิด และช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย” ศาสตราจารย์โคปแลนด์กล่าว