เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ชัยชนะของทรัมป์มีความหมายอย่างไรต่อโลก – BBC News ไทย

Source: เลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ชัยชนะของทรัมป์มีความหมายอย่างไรต่อโลก – BBC News ไทย

Donald Trump speaks to reporters after voting at Mandel Recreation Center on Election Day in Palm Beach, Florida, U.S., November 5, 2024

ที่มาของภาพ,Reuters

  • Author,ทอม เบ็ตแมน
  • Role,ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ บีบีซีนิวส์
  • Reporting fromกรุงวอชิงตัน ดีซี

การหวนคืนทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยที่ 2 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการปรับรูปโฉมนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสำคัญในหลายด้าน ในบริบทที่สงครามและความไม่แน่นอนยังเกาะกุมอยู่ในหลายส่วนของโลก

ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทรัมป์ได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ อย่างกว้าง ๆ และบ่อยครั้งขาดการระบุถึงรายละเอียด โดยมีฐานมาจากเพียงหลักการการไม่แทรกแซงและการกีดกันทางการค้า หรือก็คือสิ่งที่เขาเรียกว่า “อเมริกันเฟิร์ส” (America First) ซึ่งแปลว่า อเมริกาต้องมาก่อน

ชัยชนะของเขายังส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดภาวะชะงักงันสำคัญของรัฐบาลกรุงวอชิงตันในด้านกิจการต่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤตคู่ขนานที่ดำเนินมาหลายปี

เราอาจปะติดปะต่อภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามแนวทางของเขาได้ โดยดูจากความเห็นที่เขาได้กล่าวระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและสิ่งที่เขาทำในอดีตขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกระหว่างปี 2017 – 2021

รัสเซีย ยูเครน และนาโต

ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์เคยกล่าวซ้ำ ๆ ว่าเขาสามารถที่จะยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ “ภายในหนึ่งวัน” เมื่อสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไร เขาชี้่ว่าจะเป็นตัวกลางให้เกิดข้อตกลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเป็นการเฉพาะ

มีงานวิจัยฉบับหนึ่งที่เขียนโดยอดีตหัวหน้าด้านความมั่นคงแห่งชาติสองคนของทรัมป์ที่เปิดเผยในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าสหรัฐฯ ควรจะดำเนินการจัดส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ให้กับยูเครนต่อไป แต่ต้องอยู่บนตั้งเงื่อนไขที่รัฐบาลยูเครนต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

ขณะเดียวกันเพื่อจูงใจรัสเซีย ชาติตะวันตกจะต้องสัญญาว่าจะชะลอการรับยูเครนเป็นสมาชิกนาโตซึ่งเป็นสิ่งที่ยูเครนต้องการมากที่สุดออกไป อดีตที่ปรึกษา[ของทรัมป์]หลายคนกล่าวว่า ยูเครนควรยุติความหวังในการยึดคืนพื้นที่ซึ่งรัสเซียยึดครองไปแล้วกลับมาทั้งหมด และชี้ว่ายูเครนควรเจรจาโดยใช้ระยะประชิดแนวหน้าในปัจจุบันเป็นฐาน

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์จากพรรคเดโมแครต ซึ่งกล่าวหาว่าเขาทำตัวสบาย ๆ กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า แนวทางของทรัมป์เท่ากับเป็นการให้ยูเครนยอมจำนน อีกทั้งยังจะเป็นอันตรายต่อทั้งยุโรป

เขาพูดอยู่เสมอว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของเขาคือ การยุติสงครามและขัดขวางการสิ้นเปลืองทรัพยากรของสหรัฐฯ

ยังไม่ชัดเจนว่า เอกสารของอดีตที่ปรึกษาของเขาแสดงถึงความคิดของทรัมป์มากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้เห็นคำแนะนำที่ทรัมป์จะได้รับ

แนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของเขาในการยุติสงครามยังขยายไปสู่ประเด็นเชิงกลยุทธ์เกี่ยวกับอนาคตของนาโต ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างกลุ่มประเทศข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแบบ all-for-one และ one-for-all (หรือแปลว่า ทุกคนเพื่อหนึ่งเดียว หนึ่งเดียวเพื่อทุกคน) ที่ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยแต่เดิมใช้เป็นเสมือนป้อมปราการต่อต้านสหภาพโซเวียต

A resident inspects his apartment building hit by a Russian drone strike, amid Russia's attack on Ukraine, in the village of Krasylivka, Chernihiv region, Ukraine November 3, 2024.

ที่มาของภาพ,Getty Images

คำบรรยายภาพ,รัสเซียเริ่มปฏิบัติการบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ. 2022

ปัจจุบัน นาโตมีสมาชิกมากกว่า 30 ประเทศ และทรัมป์ยังคงมีความกังขาต่อชาติพันธมิตรในกลุ่มนาโต เช่น การกล่าวหาชาติยุโรปไม่ได้ช่วยเหลือด้านงบประมาณมากเพียงพอเพื่อให้ได้รับการปกป้องโดยสหรัฐฯ

ไม่ว่าเขาจะถอนสหรัฐฯ ออกจากนาโตหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจจะกลายเป็นการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์ทางทหารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในเกือบศตวรรษ แต่ประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียง

ชาติพันธมิตรบางรายของทรัมป์ได้เสนอว่า ข้อเสนอที่ไม่มีความประนีประนอมของเขาเป็นเพียงชั้นเชิงในการเจรจาหนึ่งที่เขาต้องการให้ชาติสมาชิกนาโตดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ว่า ชาติสมาชิกควรจะต้องจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมของตัวเองให้ได้อย่างน้อย 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงคือ ผู้นำของนาโตต่างรู้สึกกังวลในประเด็นว่า ชัยชนะของทรัมป์จะมีความหมายอย่างไรต่ออนาคตของการเป็นพันธมิตรร่วมกัน รวมถึงว่ากลุ่มผู้นำของประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับนาโตจะมองความแข็งแกร่งของนาโตต่างออกไปอย่างไร

ภูมิภาคตะวันออกกลาง

เช่นเดียวกันกับกรณียูเครน ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะนำพาสันติภาพมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยนัยแล้วก็คือ เขามีความต้องการที่จะยุติสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา รวมถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน แต่เขาก็ยังไม่ได้ระบุว่าจะดำเนินการอย่างไร

เขาพูดซ้ำหลายครั้งว่า หากในช่วงที่ผ่านมาเขามีอำนาจแทนที่จะเป็น โจ ไบเดน กลุ่มฮามาสจะไม่กล้าโจมตีอิสราเอล เนื่องด้วยนโยบายกดดันขั้นสูงสุดที่เขาจะทำต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนกลุ่มดังกล่าว

แต่ในภาพกว้างแล้ว มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะพยายามหันกลับไปยังแนวนโยบายเดิมของเขา ซึ่งเคยดึงรัฐบาลสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์กับอิหร่าน ไปพร้อม ๆ กับการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นต่ออิหร่าน และได้สังหารพลตรีคาเซ็ม สุเลมานี ผู้บัญชาการทหาร ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอิหร่านไป

ที่ทำเนียบขาว ทรัมป์ได้เคยใช้นโยบายสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขัน อย่างเช่นการเรียกนครเยรูซาเลมให้เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล และย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังนครเยรูซาเลม เพื่อเอาใจฐานคะแนนเสียงชาวคริสต์ของพรรครีพับลิกัน

เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลเคยเรียกทรัมป์ว่า “เพื่อนที่ดีที่สุดที่อิสราเอลเคยมีมาในทำเนียบขาว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์แย้งว่า นโยบายของเขาได้ส่งผลสั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาคดังกล่าว และทำให้ชาวปาเลสไตน์ตัดสินใจคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทรัมป์ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ละเลยต่อการอ้างความเป็นเจ้าของนครเยรูซาเลมของชาวเลสไตน์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์แห่งชาติและศาสนาในชีวิตของชาวปาเลสไตน์

นอกจากนี้ พวกเขายังถูกโดดเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น เมื่อทรัมป์ในตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้เป็นต้วกลางในการสร้างข้อตกลงอับราฮัม (Abraham Accords) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ต้องการปรับระดับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิสราเอลและหลายชาติอาหรับและมุสลิมให้กลับสู่ระดับปกติ ซึ่งดำเนินการไปโดยที่อิสราเอลไม่จำเป็นต้องยอมรับว่าปาเลสไตน์จะได้เป็นรัฐเอกราชในอนาคต หรือที่ถูกเรียกว่าทางแก้ 2 รัฐ (two-state solution) ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเงื่อนไขของกลุ่มประเทศอาหรับในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับภูมิภาคดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงดังกล่าวได้รับสิทธิในการเข้าถึงอาวุธขั้นสูงของสหรัฐฯ แทนเพื่อแลกกับการยอมรับอิสราเอล

.

ที่มาของภาพ,Reuters

คำบรรยายภาพ,สงครามในกาซา ดำเนินมานานนับปีแล้ว

นั่นจึงทำให้ชาวปาเลสไตน์ถูกทิ้งให้อยู่ในจุดที่โดดเดี่ยวที่สุดจุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตัวเอง ด้วยมือของมหาอำนาจหนึ่งเดียว (ในที่นี้หมายถึงสหรัฐฯ) ที่มีอำนาจต่อรองได้กับทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้ง และนี่ยิ่งเป็นการทำลายความสามารถของชาวปาเลสไตน์ในการปกป้องตนเองในพื้นที่

ทรัมป์ออกแถลงการณ์หลายฉบับในระหว่างการหาเสียงโดยบอกว่าเขาต้องการให้สงครามในฉนวนกาซายุติ

เขามีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและผิดปกติในบางครั้งกับเนทันยาฮู แต่แน่นอนว่า เขาเองก็มีความสามารถในการกดดันนายกรัฐมนตรีอิสราเอลได้

นอกจากนี้ เขายังมีประวัติความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้นำหลายคนในประเทศอาหรับที่สำคัญ ๆ ซึ่งมีการติดต่อกับกลุ่มฮามาส

ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะให้น้ำหนักระหว่างความปรารถนาที่จะแสดงการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อผู้นำอิสราเอล กับการพยายามทำให้สงครามยุติลงอย่างไร

พันธมิตรของทรัมป์มักจะบรรยายถึงความคาดเดาไม่ได้ของเขาในฐานะผู้นำทางการทูต แต่ในตะวันออกกลางที่มีการแข่งขันและผันผวนสูง ซึ่งวิกฤตใหญ่ในระดับประวัติศาสตร์กำลังเกิดขึ้น มันก็ยังห่างไกลจากความชัดเจนนักว่าแนวทางแบบทรัมป์จะส่งผลอย่างไร

ทรัมป์จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินกระบวนการทางการทูตที่หยุดชะงักไปโดยรัฐบาลของไบเดนอย่างไร เพื่อให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซา แลกกับการปล่อยตัวตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับตัวไป

จีนและการค้า

แนวทางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีนถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากที่สุด และถือเป็นนโยบายที่มีผลกระทบมากที่สุดต่อความมั่นคงและการค้าโลก

เมื่อเขาขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทรัมป์ตราหน้าจีนว่าเป็น “คู่แข่งเชิงกลยุทธ์” และกำหนดอัตราภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนมายังสหรัฐฯ บางส่วน มาตรการดังกล่าวได้กระตุ้นให้เกิดการเก็บภาษีศุลกากรแบบตาต่อตาฟันต่อฟันโดยรัฐบาลจีนกับสินค้านำเข้าจากอเมริกาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เคยมีความพยายามที่จะลดความรุนแรงของข้อพิพาททางการค้าเหล่านี้ลง แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำลายความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ไป และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศก็แย่ลง เมื่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ตราหน้าโรคโควิดว่าเป็น “ไวรัสจีน”

แม้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน อ้างว่าได้ใช้แนวนโยบายที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อจีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลไบเดนยังคงเก็บภาษีนำเข้าหลายรายการที่เริ่มขึ้นในยุคของทรัมป์เอาไว้

นโยบายการค้ามีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการรับรู้ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ เกี่ยวกับการปกป้องตำแหน่งงานในภาคการผลิตของอเมริกา แม้ว่าแนวโน้มการเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะยาวของตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมดั้งเดิมของสหรัฐฯ จำนวนมาก อย่างเช่นในอุตสาหกรรมเหล็ก จะมีสาเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการหันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ มากกว่าที่จะเกิดจากปัจจัยด้านการแข่งขันระดับโลกและการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศก็ตาม

.

ที่มาของภาพ,Reuters

คำบรรยายภาพ,การพบกันของประธานาธิบดีจีนและสหรัฐฯ เมื่อทรัมป์เป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก

ทรัมป์ยกย่องประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนว่าเป็นทั้ง “อัจฉริยะ” และ “อันตราย” และเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งควบคุมผู้คน 1.4 พันล้านคนด้วย “หมัดเหล็ก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นการชื่นชม “เผด็จการ” ของทรัมป์

ขณะเดียวกัน อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมแปลงแนวทางเดิมของรัฐบาลไบเดนที่ต้องการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อพยายามจำกัดอิทธิพลของจีน

สหรัฐฯ ยังคงให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไต้หวันในการปกครองตนเอง ซึ่งจีนมองว่าเป็นจังหวัดที่แยกตัวออกมาซึ่งในท้ายที่สุดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง

ทรัมป์กล่าวในเดือน ต.ค. ว่า หากเขากลับมาที่ทำเนียบขาว เขาก็จะไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเพื่อป้องกันการปิดล้อมไต้หวันของจีน เพราะประธานาธิบดีสีรู้ว่า เขาเป็นคน “[คำสบถ] บ้า” และเขาจะกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนจนเป็นอัมพาต หากเป็นเช่นนั้น

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here