Source: เหตุใดอินเดียส่งยานไปสำรวจอวกาศได้ ด้วยต้นทุนต่ำกว่าการสร้างหนังฮอลลีวูด – BBC News ไทย
- Author,กีตา ปันเดย์
- Role,บีบีซีนิวส์ เดลี
รัฐบาลอินเดียเพิ่งประกาศแผนการล่าสุด โดยเผยว่าจะดำเนินโครงการสำรวจอวกาศที่มุ่งบรรลุเป้าหมายระดับสูงหลายโครงการด้วยกัน แต่กลับมีการอนุมัติงบประมาณสำหรับแผนนี้เพียง 227,000 ล้านรูปี หรือราว 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับโครงการสำรวจอวกาศของชาติตะวันตก
แผนสำรวจอวกาศดังกล่าว รวมถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ในขั้นต่อไป หลังจากที่อินเดียได้ส่งยานไปลงตรงขั้วใต้ของดวงจันทร์เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงโครงการส่งดาวเทียมไปโคจรสำรวจรอบดาวศุกร์, ลงมือก่อสร้างหน่วยแรกของสถานีอวกาศใหม่เอี่ยมที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ, และพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศที่สามารถบรรทุกน้ำหนักมหาศาล ทั้งยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปล่อยดาวเทียมในอนาคต
แม้งบประมาณสำหรับแผนสำรวจอวกาศนี้ จะเป็นการจัดสรรงบก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศของประเทศ แต่เมื่อคำนึงถึงขนาดและความซับซ้อนของโครงการเหล่านี้แล้ว เงินจำนวนดังกล่าวถือว่าไม่มาก แต่สามารถทำให้ผู้คนหันมาสนใจเทคนิคการบริหารงบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพของอินเดียอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกต่างประหลาดใจกับงบประมาณจำนวนน้อยนิด ที่องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย (Indian Space Research Organisation – ISRO) ใช้ทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์, ดาวอังคาร, และดวงอาทิตย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยดาวเทียมโคจรสำรวจดาวอังคาร “มังกัลยาน” (Mangalyaan) ใช้งบประมาณไป 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ยานสำรวจดวงจันทร์ “จันทรายาน-3” (Chandrayaan-3) ซึ่งถูกส่งไปทำภารกิจครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว ใช้งบประมาณเพียง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่ายังถูกกว่างบสร้างภาพยนตร์ลุ้นระทึกแนวไซ-ไฟ “กราวิตี” (Gravity) ที่ใช้เงินไป 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขงบประมาณของอินเดียนั้นถือว่าต่ำอย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับงบประมาณที่องค์การอวกาศเก่าแก่ของชาติตะวันตกใช้ เช่นยานโคจรสำรวจ “เมเวน” (Maven) ขององค์การนาซา ใช้งบประมาณในการสร้าง 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยาน “ลูนา-25” (Luna-25) ของรัสเซีย ซึ่งตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนจันทรายาน-3 ลงจอดเพียงสองวัน ใช้งบประมาณไปถึง 12,600 ล้านรูเบิล หรือราว 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้โครงการสำรวจอวกาศของอินเดียจะมีต้นทุนต่ำ แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติพากันส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า อินเดียมุ่งเป้าทำภารกิจที่เกินขีดความสามารถของตนเองไปมาก โดยลงทุนน้อยแต่หวังจะประสบผลสำเร็จโดยได้ผลงานมูลค่าสูงเป็นการตอบแทน
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม จันทรายาน-1 ก็สามารถสร้างผลงานที่น่าประทับใจ โดยเป็นภารกิจแรกที่สามารถยืนยันได้ว่า มีโมเลกุลน้ำอยู่ในดินของดวงจันทร์จริง ส่วนมังกัลยานก็สามารถขนอุปกรณ์ศึกษามีเทนในบรรยากาศของดาวอังคารไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ และขณะนี้ภาพบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ที่จันทรายาน-3 ส่งกลับมา ก็กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้คนทั่วโลก
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่า อินเดียทำได้อย่างไร ทั้งที่รัฐบาลก็ไม่ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลอย่างที่ชาติอื่นทำกัน
เรื่องนี้นายศีศีร์ กุมาร์ ดาส อดีตข้าราชการผู้ดูแลการเงินของ ISRO มานานกว่า 20 ปี ให้คำตอบว่าแนวทางการทำงานที่เน้นการประหยัดงบประมาณ มีมานานตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ที่นักวิทยาศาสตร์อินเดียเริ่มเสนอโครงการสำรวจอวกาศกับรัฐบาลเป็นครั้งแรก
ตอนนั้นอินเดียเพิ่งได้รับเอกราชเมื่อปี 1947 และหลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาได้ไม่นาน ทำให้ในยุคทศวรรษ 1960 รัฐบาลอินเดียยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาปากท้องของประชาชน รวมทั้งต้องมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเช่นโรงเรียนและโรงพยาบาล ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของผู้คนเสียก่อน
“แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้ง ISRO ซึ่งก็คือนายวิกรม ศราภัย สามารถชักจูงรัฐบาลอินเดียให้ทำโครงการสำรวจอวกาศได้สำเร็จ โดยเขาชี้ให้เห็นว่า โครงการเหล่านี้ไม่ได้เป็นของหรูหราฟุ่มเฟือยที่ไม่เหมาะกับประเทศยากจนอย่างอินเดีย เขาพยายามอธิบายว่า การสร้างและส่งดาวเทียมจะช่วยให้อินเดียรับใช้ประชาชนของตนได้ดีขึ้นอย่างไร” ศีศีร์ กุมาร์ ดาส บอกกับบีบีซี
นับแต่นั้นเป็นต้นมา โครงการอวกาศของอินเดียล้วนต้องพยายามสร้างความสำเร็จ ภายใต้งบประมาณที่ได้รับอย่างจำกัดจำเขี่ยเสมอ เนื่องจากรัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณไปในการพัฒนาด้านอื่น ๆ มากกว่า ภาพถ่ายจากยุคทศวรรษ 1960 และ 1970 มักแสดงให้เห็นทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย พากันขนย้ายจรวดและดาวเทียมอย่างทุลักทุเลด้วยรถสามล้อหรือวัวเทียมเกวียน
แม้จะประสบความสำเร็จกับโครงการอวกาศมากมายในช่วงหลายสิบปีต่อมา แต่งบประมาณที่ ISRO ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นเดิม โดยในปีนี้โครงการสำรวจอวกาศของอินเดียได้รับงบประมาณมาทั้งหมด 130,000 ล้านรูปี หรือ 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่งบขององค์การนาซาในปีนี้อยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากเหตุผลด้านการจัดสรรงบประมาณของรัฐแล้ว ศีศีร์ กุมาร์ ดาส ยังบอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการอวกาศของอินเดียมีต้นทุนต่ำ เป็นเพราะเทคโนโลยีทั้งหมดที่ใช้ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศ และอุปกรณ์รวมถึงเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ก็ผลิตขึ้นเองในประเทศด้วย
หลังรัฐบาลอินเดียทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรกในปี 1974 ชาติตะวันตกได้ออกมาตรการคว่ำบาตร โดยห้ามการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่มาตรการที่ดูเหมือนเป็นคำสั่งลงโทษนี้ กลับกลายเป็นพรที่ส่งเสริมให้อินเดียเกิดการพัฒนารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
“นักวิทยาศาสตร์ของเราใช้โอกาสนี้พัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง อุปกรณ์ทุกชิ้นที่พวกเขาต้องการถูกผลิตขึ้นในประเทศทั้งหมด และแน่นอนว่าเงินเดือนของพวกเขารวมทั้งค่าแรงของคนอินเดีย ถูกกำหนดให้ต่ำกว่าในสหรัฐฯ หรือในยุโรปมาก”
ปัลลวะ ภักลา นักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียแสดงความเห็นว่า องค์การอวกาศของต่างชาติอย่างนาซาใช้งบประมาณสูงในการทำภารกิจแต่ละครั้ง เพราะมอบหมายให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ช่วยผลิตดาวเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งยังมีการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอีกด้วย ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายของโครงการอวกาศสูงลิ่ว
“องค์การอวกาศของอินเดียไม่เหมือนกับนาซา เราไม่ทำแบบจำลองทางวิศวกรรม เพื่อใช้ทดสอบก่อนการปล่อยของจริงขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เราสร้างยานและดาวเทียมขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว และมันต้องใช้งานได้จริงเมื่อถึงเวลาทะยานขึ้นฟ้า แน่นอนว่ามันเสี่ยงและอาจจะเกิดเหตุผิดพลาดได้ แต่นั่นคือความเสี่ยงที่เรายอมรับ และเรายอมรับมันได้เพราะโครงการอวกาศเป็นของรัฐบาล” ภักลากล่าว
มีลสวามี อันนาดูไร หัวหน้าภารกิจครั้งแรกและครั้งที่สอง ในการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารของอินเดีย บอกว่า ISRO จ้างงานนักวิทยาศาสตร์และช่างเทคนิคจำนวนน้อยกว่า ทั้งยังจ่ายเงินเดือนในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับองค์การอวกาศของต่างชาติ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น “ผมเป็นผู้นำทีมเล็ก ๆ ที่มีกันไม่ถึง 10 คน พวกเราต่างทุ่มเทและทำงานล่วงเวลาเป็นประจำ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษเลย นั่นเป็นเพราะเราต่างหลงใหลในงานที่ตนเองทำอยู่”
ในบางครั้งงบประมาณที่มีอยู่จำกัด ทำให้พวกเขาต้องกลับไปทบทวนแก้ไขแผนงานใหม่หลายต่อหลายครั้ง การที่ถูกบีบให้ต้องคิดนอกกรอบอยู่เสมอ นำไปสู่การให้กำเนิดนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นขึ้นเป็นจำนวนมาก
“ในกรณีของจันทรายาน-1 เราได้รับงบประมาณมา 89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพียงพอสำหรับแผนการที่วางไว้ตอนแรก แต่ในเวลาต่อมากลับมีการกำหนดให้ยานต้องบรรทุกอุปกรณ์สำรวจเพิ่มเติม ซึ่งก็คืออุปกรณ์ชนกระแทกพื้นดวงจันทร์ (Moon Impact Probe – MIP) ซึ่งหมายความว่ายานต้องบรรทุกน้ำหนักเพิ่มอีก 35 กิโลกรัม” อันนาดูไรกล่าว
ทีมนักวิทยาศาสตร์มีทางเลือกสองทาง นั่นก็คือใช้จรวดขนส่งอวกาศที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรือเลือกเอาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์บางส่วนของยานทิ้งไป เพื่อให้มีน้ำหนักเบาเท่ากับที่กำหนดไว้แต่เดิม
“เราเลือกวิธีที่สอง โดยลดจำนวนเครื่องยนต์ขับดันจากเดิม 16 ตัว ถอดออกให้เหลือเพียง 8 ตัว ส่วนถังปรับความดันและแบตเตอรีก็ถูกปรับลดลงจาก 2 ตัว เหลือเพียงอย่างละ 1 ตัวเท่านั้น” อันนาดูไรกล่าว
ทว่าการลดจำนวนแบตเตอรีกลับส่งผลกระทบต่อกำหนดการส่งยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ทำให้สามารถปล่อยยานได้ในช่วงก่อนสิ้นปี 2008 เท่านั้น เนื่องจากภายในห้วงเวลาดังกล่าว ยานจะสามารถโคจรวนรอบดวงจันทร์ได้ติดต่อกันถึงสองปี โดยไม่พบกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่กินเวลายาวนาน ซึ่งจะทำให้มีอุปสรรคในการชาร์จไฟของแบตเตอรีได้ ทีมผู้สร้างและควบคุมจันทรายาน-1 จึงต้องเร่งมือทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีของมังกัลยานนั้น อันนาดูไรบอกว่าโครงการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายน้อยเพราะ “เราใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ส่วนใหญ่ที่ออกแบบเตรียมไว้สำหรับจันทรายาน-2 อยู่แล้ว แต่สามารถหยิบยืมมาใช้ก่อน เพราะภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งที่สองถูกเลื่อนออกไป”
อย่างไรก็ตาม ภักลาบอกว่าแม้โครงการอวกาศของอินเดียจะลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ในอนาคตหากมีการขยายขนาดของภารกิจให้ใหญ่ขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ค่าใช้จ่ายจะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างเช่นทุกวันนี้อินเดียใช้จรวดขนส่งอวกาศขนาดเล็ก และยังไม่มีการพัฒนาจรวดที่ทรงพลังกว่ามาทดแทน ซึ่งหมายความว่ายานอวกาศของอินเดียจะเดินทางไปถึงจุดหมายได้ช้ากว่ายานของชาติอื่น
ในตอนที่จันทรายาน-3 ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศ มันต้องโคจรวนรอบโลกหลายต่อหลายรอบ ก่อนจะสามารถเหวี่ยงตัวเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ได้ จากนั้นจันทรายาน-3 ต้องโคจรวนรอบดวงจันทร์ 2-3 รอบ ก่อนจะได้ลงจอดที่พื้นผิวดาว ในขณะที่ยานลูนา-25 ของรัสเซีย หลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้อย่างรวดเร็ว เพราะใช้จรวดขนส่งอวกาศโซยุซที่ทรงพลังกว่ามากนั่นเอง
ภักลาบอกว่า “ก่อนหน้านี้เราใช้แรงโน้มถ่วงของโลกช่วยเหวี่ยงยานไปยังดวงจันทร์ ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ทั้งต้องใช้การคิดคำนวณล่วงหน้าอย่างรอบคอบและชาญฉลาด ซึ่ง ISRO มีความเชี่ยวชาญและได้ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง”
แต่การประกาศแผนส่งมนุษย์อวกาศไปยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2040 จะทำให้อินเดียต้องเร่งพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศที่ทรงพลังกว่าเดิม เพื่อให้มนุษย์อวกาศเดินทางไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดทางการอินเดียแถลงว่า โครงการนี้ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแล้วและคาดว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นภายในปี 2032 ภายใต้ชื่อ “พาหนะขนส่งอวกาศรุ่นใหม่” (Next Generation Launch Vehicle – NGLV)
ภักลายังกล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอินเดียกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ โดยเปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น มีแนวโน้มว่าค่าใช้จ่ายราคาประหยัดสำหรับโครงการอวกาศของอินเดีย จะไม่สามารถเป็นไปได้ดังเช่นในอดีตอีกแล้ว