โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นแค่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แต่ทรัมป์ยังเป็น…

Source: โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นแค่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ แต่ทรัมป์ยังเป็น…

7 พ.ย. 67

  • โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นแค่ประธานาธิบดีคนใหม่ การลงสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งและชัยชนะขาทรัมป์ทำให้เกิดหลายปรากฏการณ์ตามมา ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โฉมหน้าประวัติศาสตร์สังคมและการเมืแงสหรัฐฯ เปลี่ยนไปจากเดิม
  • การเมืองสหรัฐฯ ระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกัน ถูกขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังมาหลายปี จนฝ่ายหนึ่งสามารถลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายได้ สิ่งนี้อาจทำให้คุณค่าประชาธิปไตยถูกทำลาย
  • มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เช่น เสียงของทรัมป์ไม่ได้มาจากคนรักรีพับลิกัน แต่มาจากคนเบื่อเดโมแครต และการรอดชีวิตจากการลอบสังหาร ทำให้ทรัมป์มีสถานะเป็นคนที่พระเจ้าต้องยื่นมือเข้ามาปกป้อง

โดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากรีพับลิกัน ประกาศชัยชนะการเลือกตั้ง เตรียมกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 เป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งที่ 3 ของทรัมป์ หลังจากพ่ายให้กับ โจ ไบเดน ในปี 2022 ทำให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในรอบ 132 ปีที่เคยแพ้แล้วกลับมาเอาชนะได้ในการเลือกตั้งครั้งถัดมา

ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายคนคาดว่าประชาชนคนอเมริกันจะเทใจให้ คามาลา แฮร์ริส จากเดโมแครต แต่ผลการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตยก็ให้ผลออกมาแล้วว่า ตัวแทนรีพับลิกันได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ไปครอง และแผนที่ส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ถูกฉาบสีแดงมากกว่าสีน้ำเงินอีกครั้งหนึ่ง

แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เป็นแค่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ การลงสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งและชัยชนะของทรัมป์ทำให้เกิดหลายปรากฏการณ์ตามมา ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โฉมหน้าประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองสหรัฐฯ เปลี่ยนไปจากเดิม

เพราะนอกจากทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่แล้ว ทรัมป์ยังเป็น…

…เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มีคดีอาญาติดตัว

โดนัลด์ ทรัมป์ คืออดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาในคดีอาญา และคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด ถ้าเขารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทรัมป์จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่มีคดีติดตัวไปพร้อมกับตำแหน่งผู้นำ

คดีอาญาสำคัญของทรัมป์ 34 กระทงมาจากข้อกล่าวหาพยายามปกปิดการจ่ายเงินให้กับ ไมเคิล โคเฮน ทนายความของเขา เพื่อทยอยจ่ายเงิน 130,000 ดอลลาร์ให้กับดาราหนังผู้ใหญ่ สตอร์มี แดเนียลส์ หรือชื่อจริงว่า สเตฟานี คลิฟฟอร์ด แลกกับการไม่ให้ข่าวใดๆ ก่อนการเลือกตั้งปี 2016 เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์กับทรัมป์

ผู้พิพากษาเคยเลื่อนวันพิจารณาคดีจากเดือนกันยายนมาเป็น 26 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ แต่เมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะ อาจทำการอุทธรณ์เพื่อรอลงอาญาโทษจำคุก เนื่องจากทนายความของเขาอ้างว่า ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดว่า ประธานาธิบดีต้องไม่ถูกจำกัดการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งการจำคุกถือว่าเข้าข่ายดังกล่าว

นอกจากคดีข้างต้น ทรัมป์ยังถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการเลือกตั้งระดับรัฐบาลกลางเมื่อปี 2020 แทรกแซงล้มผลเลือกตั้งในรัฐจอร์เจีย และครอบครองเอกสารลับรัฐบาลไว้ที่รีสอร์ทมาร์อะลาโกของตนเอง

อีกหนึ่งคดีที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ การจลาจล 6 มกราคม 2021 เมื่อผู้สนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ พยายามบุกอาคารรัฐสภาเพื่อขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งชัยชนะตกเป็นของ โจ ไบเดน ซึ่งคดีนี้แยกเป็นคดีแพ่ง 8 กระทง เกี่ยวกับบทบาทของทรัมป์ต่อการกระทำของผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุรุนแรง แต่คดีนี้ตำแหน่งประธานาธิบดีก็อาจมีเอกสิทธิ์คุ้มครองเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าหลายๆ คดีของทรัมป์อาจจะยุติลงโดยที่การพิจารณาไม่คืบหน้า หรือไม่ก็ยกฟ้อง เพราะทรัมป์อาจจะตั้งรัฐมนตรียุติธรรมขึ้นมา แล้วจัดการไล่อัยการของรัฐที่ยื่นฟ้องเขาออกหมดเลยก็ได้

…เป็นคนไม่เข้าท่าในสายตาคนดีๆ

ตั้งแต่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกกล่าวหาว่าบุคลิกการเป็นผู้นำของเขาเทียบเคียงได้กับผู้นำฟาสซิสต์ เบนิโต มุสโสลินี อดีตผู้นำเผด็จการในอิตาลี และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งนาซีเยอรมัน

ในการเลือกตั้ง 2024 วาทกรรม ‘ทรัมป์เป็นฟาสซิสต์’ ก็ถูกย้ำอีกครั้ง และคราวนี้มาจาก คามาลา แฮร์ริส และผู้สนับสนุนเดโมแครต

แฮร์ริสกล่าวบนเวที Town Hall ของ CNN ในรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2024 ว่า เธอเชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ โดยอ้างอิงจากที่ จอห์น เคลลี อดีตนายพลนาวิกโยธิน ผู้เคยทำงานกับทรัมป์ในตำแหน่งหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับ The New York Times และ The Atlantic ว่าทรัมป์เข้าข่ายเป็นพวกฟาสซิสต์ และอ้างว่าทรัมป์พูดถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ว่าการกระทำบางเรื่องของผู้นำนาซีเป็นเรื่องดีเหมือนกัน

แฮร์ริสถูกถามว่า เชื่อไหมว่าทรัมป์เป็นฟาสซิสต์ เธอตอบว่า ‘เห็นด้วย’ ถึงสองครั้ง และแฮร์ริสก็กล่าวเองด้วยว่า ถ้าทรัมป์ได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง เขาจะเป็น “ประธานาธิบดีที่ชื่นชมเผด็จการและเป็นฟาสซิสต์”

คำว่าฟาสซิสต์และนาซีในโลกปัจจุบันเป็นการแปะป้ายที่รุนแรง เพราะเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการ ความโหดร้าย และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุคสงครามโลก แม้แต่โซเชียลมีเดียเองยังให้คำว่า ‘นาซี’ ขัดต่อมาตรฐานของชุมชน แต่ข้อกล่าวหานี้ถูกนำมาแปะป้ายทรัมป์ประหนึ่งว่าเป็นปฏิปักษ์ของความดีงาม ซึ่งหลายคนบอกว่า ‘เกินเบอร์’ ไปมาก เพราะฟาสซิสต์มีคุณสมบัติอีกมากที่ทรัมป์ยังห่างไกลจากสิ่งนั้น

นอกจากข้อกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้าม ทรัมป์เองก็เคยถูกวิจารณ์ถึงความไม่เข้าท่าและเป็น ‘คนบ้า’ ตั้งแต่สมัยเป็นประธานาธิบดี ทั้งการสร้างกำแพงกั้นพรมแดน นโยบายกีดกันผู้อพยพ และเตรียมคว่ำกฎหมายทำแท้ง เป็นผู้สร้างความแตกแยก คนเหยียดผิว เป็นผู้นำของคนไร้การศึกษา กลุ่มนิยมผิวขาวสุดโต่ง เป็นตัวแทนอนุรักษนิยม ชาตินิยม ซึ่งทั้งหมดเป็นเครื่องหมายการค้าของทรัมป์ที่หลายๆ คนเคยเห็น ถ้าอ้างอิงตามกระแสแห่งยุคสมัยแล้ว ทรัมป์คือผู้ขัดขวางความก้าวหน้าและเสรีนิยมหลายๆ ด้าน

ลีออน พาเนตตา อดีตรัฐมนตรีกลาโหมและผู้อำนวยการ CIA กล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมาก เราต้องเลือกระหว่างการยึดมั่นตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม การยึดมั่นตามกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม การยึดมั่นตามความจริง หรือการเลือกระหว่างความวุ่นวายกับความสงบเรียบร้อย”

ข้อความของพาเนตตาเป็นหนึ่งเสียงที่แสดงออกชัดเจนว่าทรัมป์คือสัญลักษณ์ของความวุ่นวายทางการเมือง

“ทรัมป์จะสร้างความวุ่นวาย ไม่มีใครสงสัยเรื่องนี้ เพราะนั่นคือวิธีที่เขาปฏิบัติ สร้างความโกลาหล คือวิธีที่คนชอบรังแกคนอื่นใช้เรียกร้องความสนใจ คำถามก็คือ ประเทศชาติและผู้คนจะยอมให้เขาทำสิ่งที่ละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยของเราหรือไม่ ฉันไม่คิดว่าในที่สุดแล้วคนที่ชอบรังแกคนอื่นอย่างทรัมป์จะชนะ”

ทรัมป์จึงมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการเป็นผู้ร้ายในสายตาความถูกต้องแห่งยุคสมัย เป็นผู้ทำลายโครงสร้างความเท่าเทียม ทั้งในหมู่ผู้สนับสนุนเดโมแครตเอง และบุคคลฝ่ายประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมทั่วโลก

เชื่อกันว่า การที่ทรัมป์คว้าชัยชนะทั้งๆ ที่หลายสำนักฟันธงว่าโอกาสกลับเข้าทำเนียบขาวของเขาจะมีน้อย เพราะจริงๆ แล้วคนที่ตัดสินใจเลือกทรัมป์มีจำนวนเยอะกว่าที่คิด แต่ไม่มีใครกล้าแสดงออกหรือบอกคนอื่นว่าโหวตทรัมป์ เพราะไม่อยากให้ตัวเองดูแย่ไปด้วย

…เป็นคนที่พระเจ้าเลือก

วันที่ 13 กรกฎาคม 2024 มีความพยายามลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะกำลังปราศรัยที่เมืองบัตเลอร์ เพนซิลเวเนีย โดยกระสุนของมือปืนเฉียดใบหูของเขาไป ทรัมป์ได้รับบาดเจ็บไม่มาก แต่ผู้ร่วมฟังปราศรัยโดนลูกหลงเสียชีวิตหนึ่งราย ส่วนมือปืนถูกวิสามัญ

ขณะหน่วยอารักขาขึ้นไปพาทรัมป์ลงจากเวที ทรัมป์ที่มีเลือดเปรอะใบหน้าหันมาชูกำปั้นให้กับกองเชียร์

15 กันยายน ทรัมป์โดนลอบสังหารรอบสอง ที่สนามกอล์ฟเวสต์ ปาล์ม บีช ในรัฐฟลอริดา โดยมือปืนใช้ปืน AK-47 เตรียมลั่นกระสุน แต่เจ้าหน้าที่อารักขาทรัมป์พบเห็นปลายกระบอกโผล่ออกมาจากพุ่มไม้ รายงานระบุว่ามีเสียงปืน แต่ทรัมป์ไม่ได้รับบาดเจ็บ และมือปืนที่หลบหนีไปก็ถูกจับกุมได้ภายหลัง

สื่อหลายสำนักเห็นตรงกันว่า การลอบสังหารทรัมป์จะเป็นจุดพลิกเกมให้ความนิยมของทรัมป์กระเตื้องขึ้น แต่คงไม่มีใครคิดว่า ทรัมป์จะถูกยกย่องในฐานะมรณสักขี และรอดชีวิตได้เพราะพระประสงค์ของพระเจ้า

การรอดจากการถูกลอบยิงครั้งแรกเข้าข่ายปาฏิหาริย์ เพราะหากกระสุนเคลื่อนจากองศาเดิมเพียงนิดเดียว ทรัมป์ก็อาจถึงแก่ความตาย จึงกลายเป็นการยอมพลีชีพเพื่อกิจการของพระเจ้าในฐานะมรณสักขี แต่ทรัมป์กลับรอด เสมือนฟื้นคืนชีพขึ้นมา

ทรัมป์บอกว่า “หมอที่โรงพยาบาลบอกว่าเขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เขาเรียกมันว่าปาฏิหาริย์” ทรัมป์อธิบาย “ผมไม่ควรได้มาอยู่ตรงนี้ ผมควรจะตายไปแล้ว ด้วยโชคหรือไม่ก็พระเจ้า หลายคนบอกว่าพระเจ้าทำให้ผมยังอยู่ที่นี่ได้”

ไม่ใช่แค่ผ้าปิดแผลที่หูของทรัมป์จะกลายเป็นเทรนด์ของผู้สนับสนุนเท่านั้น ความเชื่อที่ว่า เขาคือคนที่ ‘พระเจ้าช่วยให้รอด’ ยังแพร่กระจายไปทั่วในหมู่คริสตชนส่วนหนึ่ง กลายเป็นการประกาศข่าวประเสริฐครั้งใหม่ และทรัมป์คือคนที่พระเจ้าเลือก

ชาวรีพับลิกันต่างเชื่อว่า นี่คือการแทรกแซงของพระเจ้าเพื่อช่วยทรัมป์ ทำให้ที่ยืนของทรัมป์ยิ่งมั่นคงกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้นำเท่านั้น แต่เป็น ‘คนที่พระเจ้าเลือก’

ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความว่า สิ่งที่ช่วย โดนัลด์ ทรัมป์ คือคือ “พระหัตถ์แห่งการคุ้มครองของพระเจ้า” ซึ่งครั้งหนึ่งพระเจ้าได้ปกป้อง จอร์จ วอชิงตัน จากการลอบสังหารในเดือนกรกฎาคม 1755 ในเพนซิลเวเนีย

เช่นเดียวกับ ไมค์ คอลลินส์ สส.รัฐจอร์เจีย ที่บอกว่า “พระเจ้าช่วยชีวิต โรนัลด์ เรแกน ด้วยเหตุผลบางอย่าง พระเจ้าช่วยชีวิต โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยเหตุผลบางอย่าง พระองค์ไม่มีทางพลาด”

มีการกล่าวอ้างถึงข้อความในไบเบิล อิสยาห์ 45:1 ที่ว่า ‘ผู้ที่เราได้เจิมไว้เป็นกษัตริย์ ผู้ที่เราได้จูงมือขวาของเขาไว้ เพื่อเขาจะมีชัยชนะเหนือชนชาติต่างๆ และปลดอำนาจไปจากกษัตริย์ทั้งหลาย’ นั้นหมายถึงทรัมป์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45

ในวันประกาศชัยชนะเลือกตั้ง ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของทรัมป์ยังย้ำถึงเรื่องนี้ว่า

“หลายคนบอกกับผมว่า พระเจ้าช่วยชีวิตผมไว้ด้วยเหตุผลบางอย่าง และเหตุผลนั้นก็เพื่อรักษาประเทศของเรา และฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ให้กับอเมริกา และตอนนี้เรากำลังจะบรรลุภารกิจนั้นร่วมกัน เราจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ” และ “ภารกิจที่อยู่ตรงหน้าเรานั้นไม่ง่ายเลย แต่ผมจะนำเอาพลัง จิตวิญญาณ และการต่อสู้ทั้งหมดที่มีมาใช้เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา”

…เป็นจุดเริ่มต้น ‘สงครามกลางเมืองเย็น’

สงครามเย็นทางการเมืองครั้งนี้จะพัฒนามาจากการที่ผู้สนับสนุนของทั้งสองพรรคทวีความเกลียดชังกันมากขึ้น

สำนักวิจัย Pew (Pew Research Center) เก็บข้อมูลได้ว่า ฝ่ายเดโมแครตมองว่ารีพับลิกันเป็นพวกขี้โกง ไร้ศีลธรรม ไม่ฉลาด ขี้เกียจ ส่วนผู้สนับสนุนรีพับลิกันมองว่าพวกเดโมแครตใจแคบมากๆ

คนที่ลงคะแนนให้ทรัมป์จะถูกมองว่า มีแต่กลุ่มคนการศึกษาต่ำ คนสูงวัยที่ไม่ใส่ใจสังคม ส่วนคนฝั่งเดโมแครตก็จะมองว่า แฮร์ริสเป็นคนไอคิวต่ำ ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถูกมองว่า เพราะแรงผลักทางการเมือง ข่าวปลอม และการปลุกปั่นทางโซเชียลมีเดีย คนกำลังถูกบังคับให้เลือกข้างแบ่งขั้วชัดเจน เหยียดฝ่ายตรงข้ามให้ต่ำกว่า นำไปสู่ความเกลียดชัง ไม่สามารถถกเถียงเรื่องการเมืองกันได้ สังคมอเมริกันยุคนี้จะกลายเป็นยุคแห่งความแตกแยกมากที่สุด

และจากการสำรวจของ Society for Human Resource Management (SHRM) พบว่า 84 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยว่าสภาพทางการเมืองในปัจจุบันทำให้พลเมืองสหรัฐฯ แตกแยกเป็นศัตรูกัน และ 78 เปอร์เซ็นต์เคยมีประสบการณ์ว่า หากแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนใคร จะได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากฝ่ายตรงข้าม

นอกจากนี้ เรื่องแปลกที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้ง 2024 คือ ผู้ลงคะแนนส่วนหนึ่งไม่ได้เลือกคนที่ตัวเองชอบ แต่เพราะเกลียดและไม่ชอบฝ่ายตรงข้าม จึงตัดสินใจลงคะแนนให้คนที่คุณ ‘เกลียดน้อยกว่า’ ใช้หลัก anti มากกว่า pro หรือใช้คำที่คุ้นหูคนไทยคือ ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’

สำนัก Pew อีกเช่นกัน ที่ตั้งคำถามให้คนอเมริกันตอบว่าพวกเขานิยามสภาพการเมืองของประเทศว่าอะไร ผลคือ 79 เปอร์เซ็นต์นิยามว่าแตกแยกและทุจริต มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่พูดถึงสิ่งดีๆ และ 90 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเหนื่อยหน่ายและโกรธ อีกไม่ถึงครึ่งเท่านั้นที่ตอบว่าประเทศยังมีความหวัง

ลิลเลียนา เมสัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ศึกษาต้นกำเนิดของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงในหมู่ชาวอเมริกันไว้ในหนังสือ Radical American Partisanship พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบความเห็น 40 เปอร์เซ็นต์เต็มใจที่จะใช้คำพูดรุนแรงไร้มนุษยธรรมกับพรรคฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเมสันบอกว่าเป็นสัญญาณเตือนถึงความรุนแรงทางการเมืองที่อาจมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดแบบเหมารวม เช่น คิดว่ารีพับลิกันมีแต่คนขาว และเดโมแครตเป็นพรรคคนดำ โดยทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นประเด็นจิตวิทยาและชุดความคิดที่ฝังลึกในใจ

การเก็บข้อมูลในหนังสือของเมสันใช้คำถามกับผู้ถูกสำรวจความเห็นว่า จะรู้สึกอย่างไรหากลูกของพวกเขาแต่งงานกับคนจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือรู้สึกอย่างไรหากคนจากอีกฝ่ายหนึ่งย้ายมาอยู่บ้านข้างๆ ซึ่งคำตอบที่น่าตกใจคือ คนไม่ชอบให้ลูกแต่งงานกับผู้มีแนวคิดการเมืองฝ่ายตรงข้าม และไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหากเขามีความเชื่ออีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น ความเกลียดชังแบบนี้มาจากพื้นฐานความคิดจิตใจ ไม่ใช่แค่นโยบายทางการเมือง เพราะความไม่ชอบนโยบายทางการเมืองไม่น่าจะสร้างความเกลียดชังขนาดนั้นได้

คำถามที่รุนแรงขึ้นของเมสันคือ “พวกเขาสมควรได้รับการปฏิบัติเหมือนมนุษย์หรือไม่ เพราะพวกเขาประพฤติตัวเหมือนสัตว์” ก่อนจะพบว่า ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เต็มใจที่จะบอกว่าฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาชั่วร้าย และประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์มีแนวโน้มจะด้อยค่าความเป็นมนุษย์ผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองไม่เหมือนตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ความแตกแยกในสังคมอเมริกันนี้ อาจพัฒนาเป็น ‘สงครามกลางเมือง’ แต่ไม่ใช่สงครามกลางเมืองที่ห้ำหั้นกันระหว่าหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในประวัติศาสตร์แเมริกา สิ่งนี้น่าจะเข้าข่าย ‘สงครามกลางเมืองเย็น’ ที่มีความขัดแย้งรุนแรงซ่อนอยู่ในจิตใจทุกคน โดยยังไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพต่อกัน ซึ่งไม่มีใครประเมินได้ว่า ความเย็นที่ว่านี้จะเย็นต่อเนื่องได้ยาวนานแค่ไหน

…เป็นบททดสอบความก้าวหน้าและถอยหลังของประชาธิปไตยอเมริกัน

ถึงแม้ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นคนที่ใครๆ ก็ไม่รักตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมัยแรกในปี 2016 แต่ชัยชนะจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีใครคัดค้าน

ส่วนหนึ่งของการประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของคามาลาแฮร์ริสก็ยังบอกว่า การยอมรับผลการเลือกตั้งคือพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย

นั่นแสดงให้เห็นว่า หากมองที่กลไกการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วม ต้องถือว่าสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแรงในข้อนี้ เพราะใครก็สามารถเป็นผู้นำได้ หากผ่านการเลือกตั้ง เพราะนั่นคือหลักการประชาธิปไตย ที่ผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีคนเก่ง เพราะเชื่อในระบบว่าต้องทำงานได้เข้มแข็งมากกว่าความดีงามของคน

แต่มองในภาพรวม ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ก็ถูกท้าทายและสุ่มเสี่ยงต่อการล่มสลายมาหลายปี และบางครั้งก็ดูเหมือนกำลังติดอยู่ในวังวนแห่งความแตกแยก และสถาบันทางการเมืองของอเมริกากำลังช่วยเสริมสร้างสถานการณ์ดังกล่าวเสียเอง ตัวอย่างเช่นความเกลียดชังของผู้สนับสนุนทางการเมืองที่ยืนตรงข้ามกัน

และแม้ว่าทรัมป์จะมาอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ตัวทรัมป์เองก็มีประวัติบ่อนทำลายประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยเป็นประธานาธิบดี ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาแทรกแซงการเลือกตั้ง แทรกแซงระบบตรวจสอบ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เหยียดผิว ซึ่งทั้งหมดคือการหมิ่นหลักการความเท่าเทียมซึ่งเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

จากบทเรียนที่สหรัฐฯ เคยได้รับจากทรัมป์ใน 4 ปีในการดำรงตำแหน่งครั้งแรก ผ่านเวลามาหลายปี ประชาธิปไตยของชาวอเมริกันก็มีสถานะง่อนแง่นด้วยตัวมันเองจากความไม่ไว้ใจทางการเมือง เนื่องจากการทำงานของ โจ ไบเดน และเดโมแครต ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีให้ชาวอเมริกันได้คำตอบว่า ประชาธิปไตยแบบไหนที่จะตอบสนองความต้องการของเขาได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ในยุคของทรัมป์ ประชาธิปไตยซึ่งเคยเป็นคุณค่า เป็นแบรนด์ใหญ่ของโลกเสรีอย่างอเมริกา อาจถูกทำลายลง และแทนที่ด้วยความเชื่อทางการเมืองชุดอื่นๆ ก็เป็นได้

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here