ขอนอกเรื่องรบกวนถาม จขกท. หน่อย
พอดีเห็นว่าเป็นคนจังหวัดสุโขทัย
จะมาถามเรื่องสุโขทัย
ส่วนตัวยังไม่เคยไปจังหวัดนี้เลยไม่รู้สภาพวัฒนธรรม สำเนียงของแถวนี้มาก
เอาอย่างแรกเลยคือ ผู้คน วัฒนธรรม ออกไปทางไหน
ทางเหนือ หรือ ทางภาคกลาง หรือ ทั้งเหนือผสมปนเปกับภาคกลาง
ส่วนสำเนียงสุโขทัย ฟังแล้วน่ารักดี เคยเจอคนสุโขทัย รู้สึกว่าเขาจะพูดเหน่อ เหน่อแบบโทนเสียงไม่เหมือนแถวอื่นนะ ไม่เหมือนโคราช ไม่เหมือนสุพรรณ
เลยสงสัยว่า คนสุโขทัยทั่วไปนี่พูดสุโขทัยกันทั่วจังหวัดหรืเปล่า รือ แค่บางพื้นที่
แล้วแต่ละพื้นที่นี่ แตกต่างกันมากน้อยป่าวครับ
สมาชิกหมายเลข 6363139
วันพฤหัส เวลา 21:57 น.
ดีใจที่มีคนสนใจจังหวัดนี้นะครับ ผมก็มาเรียนเชียงใหม่ มีคนถามแบบคุณเยอะมากเลยทีเดียวครับ ว่าสุโขทัยมีวัฒนธรรมแบบไหน
“เอาอย่างแรกเลยคือ ผู้คน วัฒนธรรม
ออกไปทางไหน ทางเหนือ หรือ ทางภาคกลาง
หรือ ทั้งเหนือผสมปนเปกับภาคกลาง
”
ตอบ สุโขทัยแบ่งเป็นเหนือกับล่าง ถ้าเป็นตอนล่าง คือ อ.เมืองสุโขทัย บ้านด่านลานหอย คีรีมาศ กงไกรลาศ ศรีสำโรง ศรีนคร สวรรคโลก รวมถึงศรีสัชนาลัย (เฉพาะตำบลท่าชัยและตำบลศรีสัชนาลัย) จะมีวัฒนธรรมเป็นแบบ “ภาคกลาง” เลยครับ วิถีชีวิตชาวบ้านก็คือคนภาคกลางดี ๆ นี่เอง สำหรับภาษานั้นจะพูดภาษาไทยสำเนียงสุโขทัย (และภาษากลาง)
ทีนี้ตอนบนก็จะมี อ.ทุ่งเสลี่ยม และศรีสัชนาลัย (ตำบลที่เหลือทั้งหมด) จะมีวัฒนธรรมเป็นภาคเหนือครับ เพราะทุ่งเสลี่ยมจะติดกับลำปาง และศรีสัชนาลัยจะติดกับแพร่ ทำให้มีวัฒนธรรมแบบภาคเหนือ และพูดภาษาเหนือ (กำเมือง)
เพิ่มเติมครับ คนบางพื้นที่ของอ.ศรีสัชนาลัยจะมีวิถีชีวิตแบบลาวพวน และพูดภาษาลาวพวนด้วยครับ
ส่วนสำเนียงสุโขทัย ฟังแล้วน่ารักดี
เคยเจอคนสุโขทัย รู้สึกว่าเขาจะพูดเหน่อ
เหน่อแบบโทนเสียงไม่เหมือนแถวอื่นนะ
ไม่เหมือนโคราช ไม่เหมือนสุพรรณ
ตอบ คนทุกภาคที่เจอผมพูดสำเนียงสุโขทัย ก็จะตะลึงหรืองงไม่มากกก็น้อยครับ เพราะสำเนียงสุโขทัยนั้น ไม่ได้ถูกพูดถึงเลยในสื่อหลัก (คนทั้งประเทศเคยได้ยินน้อยมาก ๆ หรือไม่เคยได้ยินเลย)
สำเนียงสุโขทัยจะแบบเป็น 2 แบบ คือแบบเก่าและแบบใหม่ ถ้าเป็นแบบเก่าคือคนแก่จะพูดกันครับ กล่าวคือจะมีคำศัพท์เฉพาะเยอะมาก (ซึ่งคำศัพท์เท่าที่เคยฟังนั้นจะเป็นคำภาษาเหนือ+ลาว อาจจะเพราะว่าอยู่กลาง ๆ เลยรับมาทั้ง 2 ที่) ส่วนแบบใหม่นั้นก็คือคนรุ่นใหม่ เด็ก วัยรุ่นก็จะพูดสำเนียงสุโขทัยแบบใหม่กัน (รวมถึงผมด้วย) คือจะมีแค่สำเนียงเฉย ๆ ส่วนคำศัพท์นั้นไม่ค่อยเน้นครับ (ไม่ได้ใช้คำเมืองเหนือหรือลาว)
เทียบเหน่อสุโขทัยกับสุพรรณ ไม่เหมือนกันตรงที่ สำเนียงสุโขทัยจะพูดเร็วและห้วนกว่าสุพรรณมาก ๆ และมีคำลงท้ายเยอะกว่ามากด้วยครับ
และถ้าเทียบกับสำเนียงโคราช จะไม่เหมือนตรงเสียงวรรณยุกต์ครับ
เช่น คำที่สะกดด้วยแม่ กด เช่นคำว่า พิษ คนสุโขทัยจะออกเสียงเป็นคำว่า “พิด (เสียงวรรณยุกต์นี้ไม่มีในภาษากลาง ซึ่งเป็นวรรณยุกต์ที่ก้ำกึ่งระหว่างเสียงโทกับตรี แต่ก็ไม่ใช่ทั้งคู่ ถ้าคุณเคยฟังก็อาจจะพอเดาออก)” แต่คนโคราชจะพูดว่า “ผิด”
แต่เอกลักษณ์ของสำเนียงสุโขทัยคือ การสลับวรรณยุกต์เอกกับจัตวาครับ ซึ่งทำให้คนภาคอื่นพูดสำเนียงสุโขทัยได้ยาก หรือต้องใช้ความพยายามในการพูดมาก หากไม่ได้พูดมาแต่เด็ก คือ หากเสียงภาษากลางเป็นเสียง เอก จะเปลี่ยนเป็น จัตวา และหากเสียงภาษากลางเป็นเสียงจัตวา จะเปลี่ยนเป็นเสียง เอก รวมถึงเสียงโท ให้เปลี่ยนเป็นเสียง กึ่งโทกึ่งจัตวาด้วย (ภาษากลางไม่มี)
เช่น เสือ >> เสื่อ (แปลว่า สัตว์ชนิดหนึ่ง) เสียง >> เสี่ยง สอง >> ส่อง สี สี่
ก่อ >> ก๋อ สี่ >> สี หมู่ >> หมู ขัน >> ขั่น ไข >> ไข่
ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไรก็ตาม หากเสียงวรรณยุกต์เข้าเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้เลย ซึ่งจะกลายเป็นสำเนียงสุโขทัยโดยอัตโนมัติครับ
แต่ … ก็ยกเว้นได้ สำเนียงสุโขทัยแถบกงไกรลาศ บ้านด่านลานหอย หากพูดคำว่า พ่อ แม่ พี่ ก็จะเป็น ผอ แม๋ ผี แบบนี้ แต่ถ้าเป็นสำเนียงคนทางเหนืออย่างสวรรคโลก ศรีสัชนาลัย (ต.ท่าชัยและศรีสัชนาลัย) จะพูดว่า พ่อ แม่ พี่ ตามภาษากลาง แต่จะพูดให้ห้วนขึ้นครับ
ท่าเป็นสำเนียงต.ท่าชัย (อ.ศรีสัชนาลัย) คำศัพท์ที่เป็น ช.ช้างทั้งหมด จะเปลี่ยนให้เป็น ซ.โซ่ เช่นคำว่า ช้าง ก็เป็น ซ้าง เชือก ก็เป็น เซือก
ฉะนั้น ก็เป็น สะนั้น
จริง ๆ รายละเอียดเยอะมากครับ คงต้องมานั่งฟังจริงจัง ไม่งั้นคงไล่ไม่หมด 5555555
แก้ไขข้อความเมื่อ วันพฤหัส เวลา 23:02 น.
ไม่ชอบเรียนเคมี แต่หนีไม่พ้น
วันพฤหัส เวลา 22:57 น.
noom_p ถูกใจ, พ่อขวัญเอย หลงรัก, สมาชิกหมายเลข 6363139 หลงรัก