The Reader – มติชนสุดสัปดาห์

Source: The Reader – มติชนสุดสัปดาห์

วัชระ แวววุฒินันท์

ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 – 29 ธันวาคม 2565
คอลัมน์ เครื่องเคียงข้างจอ
ผู้เขียน วัชระ แวววุฒินันท์
เผยแพร่ วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2565

“The Reader” เป็นชื่อเรื่องของภาพยนตร์ที่ออกฉายมาตั้งแต่ปี 2551 แกนของเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญก็ตรงตามชื่อเรื่องเลยคือ “คนอ่านหนังสือ”

ในเรื่องนี้ตัวละครฝ่ายชายที่เป็นพระเอกคือคนที่เป็น “คนอ่าน” แต่ตัวเอกที่เป็นแกนของเรื่องคือ “คนฟัง” เป็นนางเอกที่อายุมากกว่าพระเอกร่วม 20 ปี เท่านี้ก็น่าสนใจแล้ว

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากหนังสือชื่อ “เดอร์วอร์เลเซอร์” เขียนโดย “แบร์นฮาร์ด ชลิงค์” ด้วยฝีมือการกำกับการแสดงของ Stephen Daldry และเขียนบทโดย David Hare

ต้องบอกว่าที่หนังเรื่องนี้สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่ชวนหดหู่ เศร้าหมอง หมดหนทางไปต่อจนต้องจำยอมกับชีวิตได้อย่างดีนั้น ก็มาจากนักแสดงหญิงผู้นี้ “เคท วินสเล็ต” นางเอกแสนสวยจาก Titanic เมื่อ 25 ปีที่แล้วนั่นเอง

แต่เรื่องนี้เธอรับบทเป็นสาวใหญ่ชาวเยอรมัน ที่ชื่อ “ฮันนา ชมิทซ์” ที่ต้องแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องในช่วงปลายของสงครามนาซีที่ส่งผลต่อฮันนา ราวปี 1958 และลากยาวจนมาถึงปี 1995 โดยมีพระเอกของเรื่องคือนักแสดงหนุ่ม “ราล์ฟ ไฟนส์” ที่เป็นดั่งผู้เล่าเรื่องนี้ให้คนดูฟัง

ความยากเข็ญและรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าของฮันนา ชมิทซ์ คือ การไม่รู้หนังสือ เธออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งเธอรู้สึกละอายต่อปมด้อยเรื่องนี้ของเธออย่างมาก เธอเป็นคนชั้นล่างที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตให้รอดด้วยต้นทุนที่ต่ำเตี้ยจากการไม่รู้หนังสือนี่เอง

ฮันนาดำรงชีวิตด้วยการทำงานเป็นคนตรวจตั๋วบนรถรางที่วิ่งภายในเมืองนอยชตัดท์ ทางเยอรมนีตะวันออก อาศัยอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ เก่าๆ เวลาหน้าหนาวก็ต้องหิ้วถังใส่ถ่านหินขึ้นบันไดไปที่ห้องเพื่อสร้างความอบอุ่น ไม่มีญาติมิตร และเพื่อนสนิทใดๆ สู้ชีวิตลำพังตัวคนเดียว

นั่นคือโลกในความเป็นจริงที่แสนลำบากและไร้อนาคตใดๆ ที่เธอเผชิญอยู่ทุกวัน

และวันหนึ่งโลกของเธอก็ถูกเติมสีสันด้วยเด็กหนุ่มอายุ 15 นามว่า “ไมเคิล เบิร์ก” ที่เป็นพระเอกของเรื่อง ซึ่งแสดงโดย “เดวิด คร็อส” และพอโตมาก็แสดงโดยพระเอก “ราล์ฟ ไฟนส์” นั่นเอง

เหตุเกิดจากที่ฮันนาได้ช่วยเหลือไมเคิลที่ป่วยจนอาเจียนอยู่หน้าอาคารที่พักของเธอโดยบังเอิญ การกอดประโลมเหมือนแม่กอดลูกในตอนนั้น เหมือนเป็นการเริ่มความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนตามมา

หลังจากนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเป็นเดือน ไมเคิลจึงได้มีโอกาสกลับมาพบเธอที่ที่พักเพื่อแสดงความขอบคุณ และนั่นเป็นจุดเริ่มของความสัมพันธ์ของชายหญิงต่างวัยคู่นี้

ที่บอกว่าเขาได้มาเติมเต็มชีวิตอันแห้งเหือดให้เธอนั้น เริ่มจากเรื่องของเซ็กซ์ก่อน อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มาพอดีกัน คนหนึ่งเป็นสาวใหญ่ที่ไร้ความสัมพันธ์เรื่องนี้มานาน อีกคนเป็นเด็กหนุ่มรุ่นกระทงที่ฮอร์โมนเรื่องเพศกำลังพลุ่งพล่าน

แต่สิ่งที่ตามมานั้น มันมากกว่าความสุขทางเพศรส หากเป็นการที่ฮันนาได้พบกับโลกใบใหม่ที่ทำให้เธอหลุดจากโลกอันเส็งเคร็งในความเป็นจริง หลุดไปสู่โลกที่สวยงามของจินตนาการจากการได้ฟังเด็กหนุ่มอ่านหนังสือให้เธอฟัง

แน่นอนที่คนไม่รู้หนังสืออย่างเธอ ย่อมจะตื่นตาตื่นใจกับเรื่องราวหลากหลายของหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่าที่ไมเคิลอ่านให้ฟัง หากการทำงานประจำวันเป็นเรื่องอันจืดชืดสิ้นหวัง การได้ฟังเรื่องราวชีวิตดีๆ ที่น่าสนใจจากหนังสือก็เป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจให้กับฮันนาได้อย่างวิเศษ

โดยตลอดเวลานั้น ไมเคิลไม่รู้เลยว่าฮันนาอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่เขาก็มีความสุขและเต็มใจที่จะอ่านหนังสือให้เธอฟังทั้งก่อนและหลังมีเซ็กซ์ด้วยกัน และแน่นอนที่เขาจะรู้สึกรักและผูกพันกับเธออย่างมาก เขาบรรยายถึงความดื่มด่ำต่อฮันนาไว้ว่า

“มีเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ดวงวิญญาณคนเราสมบูรณ์ และนั่นก็คือ รัก”

แต่ในที่สุดทั้งสองก็มีอันต้องแยกจากกัน ฮันนาได้รับการบอกจากหัวหน้างานว่ากำลังจะมีตำแหน่งใหม่ให้เธอ คือการทำงานในสำนักงาน ซึ่งสำหรับคนอื่นน่าจะเป็นข่าวดี แต่ไม่ใช่กับเธอที่ไม่รู้หนังสือ ในที่สุดฮันนาก็ต้องย้ายตัวเองออกจากชีวิตปัจจุบัน ทั้งการทำงานและที่พัก

ไมเคิลกลับมาพบเพียงห้องเปล่าๆ โดยไม่มีคำกล่าวลาหรืออธิบายใดๆ จู่ๆ เธอก็ทิ้งเขาไป แน่นอนที่ชีวิตเขาต้องระทมจมดิ่งอย่างมาก แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป จากเด็กมัธยมก็กลายเป็นเด็กมหาวิทยาลัยในสาขาวิชากฎหมาย และเขาก็ได้พบกับโลกใหม่ๆ รวมทั้งผู้หญิงคนใหม่ๆ ด้วย

เรื่องราวระหว่างเขาและฮันนาที่มีความสัมพันธ์กันแค่ช่วงฤดูร้อนหนึ่งเท่านั้นก็น่าจะผ่านพ้นไปแล้ว หากไม่ใช่วันหนึ่ง อาจารย์ที่สอนกฎหมายพาเขาและนักศึกษาคนอื่นๆ ไปดูงานจากการพิพากษาจริงที่ศาลจริง เป็นการพิจารณาคดีที่มีเจ้าหน้าที่ของกลุ่มเอสเอสของนาซีที่ตอนนี้ล่มสลายไปแล้วถูกฟ้องเป็นจำเลย

เจ้าหน้าที่ที่เป็นจำเลยเหล่านั้นเป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นผู้คุมนักโทษที่ค่ายเอาช์วิทซ์ ที่มีการถูกทรมานและการตายของเหยื่อจำนวนมาก

และหนึ่งในจำเลยนั้นก็คือเธอ ฮันนา ชมิทซ์

ในหนังจะเล่าว่าเป็นมายังไง ทำไมเธอถึงได้มาทำงานนี้ แต่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้สำหรับไมเคิลแล้วเหมือนถูกทุบให้มึนและสับสนในชีวิตและความเชื่อไปหมด แค่ได้มาเจอฮันนาอีกครั้งในสภาพเช่นนี้ก็เป็นเรื่องช็อกแล้ว แต่การให้การเพื่อต่อสู้คดีของเธอโดยไม่รู้ว่ามีเขาร่วมฟังอยู่ด้วยทำให้เขาได้พบกับ “ความจริงยิ่งกว่าจริง” ของชีวิต

จริงที่ว่าเราไม่อาจตัดสินคนคนหนึ่งได้จากเพียงสิ่งที่เขาทำ แม้มันจะเป็นสิ่งผิดและเลวร้ายในความเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่บริบทที่ซ่อนอยู่และที่มาที่ไปของคนคนนั้นก็เป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ ถึงกระนั้นนี่คือศาลไม่ใช่มูลนิธิ แม้แต่อาจารย์ของเขาเองก็บอกว่า

“ผู้คนคิดว่า สังคมดำเนินอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม แต่เปล่าเลย มันดำเนินอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า กฎหมาย”

และความจริงของฮันนาอันสำคัญยิ่งที่ไมเคิลก็เพิ่งรู้คือ “เธอไม่รู้หนังสือ”

ทั้งหมดเกิดจากการที่จำเลยคนอื่นรุมชี้ว่าเธอเป็นคนสั่งการและเขียนรายงานเรื่องนักโทษที่ตายหมู่ แต่ฮันนาปฏิเสธ เธอบอกว่าทุกคนช่วยกันคิดว่าจะเขียนอย่างไร และเธอไม่ใช่คนเขียนรายงานนั่น สิ่งเดียวที่ศาลจะพิสูจน์ได้คือ การเทียบลายมือในรายงานที่เป็นพยานหลักฐาน กับลายมือของเธอ

แน่นอนที่ฮันนาย่อมจะเขียนไม่ได้ และเธอก็ละอายเกินกว่าที่จะยอมรับกับใครๆ ว่าเธอไม่รู้หนังสือ มันเป็นตราบาปที่ฝังใจและเก็บซ่อนมาตลอดชีวิต

สุดท้ายในขณะที่จำเลยคนอื่นได้รับการลงโทษให้จำคุกคนละ 4 ปี ในฐานะผู้สนับสนุน แต่สำหรับฮันนา ศาลตัดสินว่าเธอเป็นคนบงการ จึงจำคุกตลอดชีวิต

ไมเคิลรู้สึกสะเทือนใจต่อชะตากรรมของฮันนาอย่างมาก และสะท้อนใจถึงการที่เขาไม่รับรู้เลยสักนิดว่าเธออ่านหนังสือไม่ออก เขาสับสนว่าตกลงเธอผิดและสมควรได้รับโทษขนาดนั้นหรือไม่ เพียงเพราะเธอไม่รู้หนังสือ และเธอไม่บอกใคร มันได้ย้อนกลับมาทำร้ายเธอถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

จากเหตุการณ์นั้นเหมือนเป็นตราบาปที่ฝังแน่นในใจและความรู้สึกของเขามาตลอด จนส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะครอบครัว หรือภรรยาที่ดีสุดก็ต้องหย่าร้าง และลูกสาวคนเดียว

สำหรับเขาแล้ว สิ่งเดียวที่จะชดเชยและเยียวยาให้เธอได้ก็คือการลุกขึ้นมาเป็น “The Reader” อีกครั้ง ด้วยการหยิบหนังสือเล่มเก่าทั้งหลายที่เขาเคยอ่านให้เธอฟัง และอ่านมันอีกครั้งพร้อมบันทึกเสียงลงในเทปคาสเส็ต เมื่อได้จำนวนมากพอเขาก็ส่งไปให้เธอในคุกพร้อมเครื่องเล่นเทป

นั่นได้กลายเป็นความสุขเดียวที่ฮันนามีตลอดการถูกจองจำ เหมือนเธอได้ย้อนกลับไปสู่อดีตที่สวยงามและเต็มไปด้วยจินตนาการที่ห่างไกลจากโลกความเป็นจริงโดยสิ้นเชิงอีกครั้ง

และสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นกับเธอ เมื่อเธอค่อยๆ เรียนรู้ที่จะอ่านหนังสือให้ออกด้วยตนเอง ต่อจากนั้นเป็นอย่างไรต้องติดตามชมเองนะครับ บอกได้เพียงว่าบทสุดท้ายของชีวิตของเธอนั้นช่างแสนเศร้าและหดหู่ใจอย่างยิ่ง

“The Reader” ในอีกนัยยะหนึ่ง คงไม่ใช่แค่การเป็นคนอ่านหนังสือเท่านั้น แต่หนังเรื่องนี้ได้บอกให้เราเรียนรู้ว่า เราควรจะเป็น “คนอ่านชีวิต” ด้วย หนังสือให้ความรู้และสติปัญญา เพื่อให้เราใช้เป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิต ศึกษาชีวิต และกระทำต่อชีวิตทั้งของเราเองและผู้อื่นอย่างรอบด้าน และไม่ตัดสินใครเพียงมุมเดียว

ชีวิตคนเรามันซับซ้อนกว่านั้น โดยเฉพาะชีวิตของคนระดับล่างในสังคมที่ด้อยโอกาสไร้ทางเลือก และขาดซึ่งความยุติธรรม ไม่มีอำนาจแม้แต่จะกำหนดชะตาชีวิตให้กับตนเอง

หากใครสนใจสามารถหาหนังสือมาอ่านได้ น่าจะยังพอหาได้อยู่ และหากอยากชมเป็นภาพยนตร์ก็ดูได้จาก Netflix ยามนี้

พอเท่านี้ก่อนนะครับเหล่า “The Reader” ของมติชนสุดสัปดาห์ทั้งหลาย พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ •

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here