Source: อีโน (ENO) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ
โดย เมดไทย
ปรับปรุงเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2020 (เวลา 23:21 น.)
อีโน
อีโน (Eno) คือ ชื่อทางการค้าของยาสามัญประจำบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดกรดและบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อันเนื่องมาจากการมีกรดมากในกระเพาะอาหาร ผลิตโดย Stering Drug (M) Sdn. Bhd. (ประเทศมาเลเซีย) และนำเข้าโดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GlaxoSmithKline – gsk)
ยาอีโนเป็นเกลือผลไม้ (Fruit Salt) ที่เตรียมในรูปแบบของยาผงฟู่ (Effervescent powder) ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1850 (พ.ศ. 2393) โดย James Crossley Eno นักเคมีชาวอังกฤษ และต่อมายานี้ได้มีการวางตลาดในหลายประเทศ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ สเปน บราซิล มาเลเซีย และประเทศไทย
รูปแบบของยาอีโน
- ยาผงบรรจุซอง ขนาด 4.3 กรัม/ซอง*
- ยาผงบรรจุขวด ขนาด 100 และ 200 กรัม/ขวด
หมายเหตุ : ยาอีโนมีจัดจำหน่ายทั้งรสส้มและรสมะนาว โดยส่วนประกอบของยาอีโนต่อปริมาณยา 4.3 กรัม จะประกอบไปด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicarbonate) 1.96 กรัม, กรดซิตริก/กรดมะนาว แอนไฮดรัส (Citric acid anhydrous) 1.85 กรัม, โซเดียมคาร์บอเนต แอนไฮดรัส (Sodium carbonate anhydrous) 0.43 กรัม, โซเดียมแซ็กคาริน/สารให้ความหวาน (Saccharin sodium) 0.003 กรัม
สรรพคุณของอีโน
- ใช้เป็นยาลดกรด บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ลดอาการแสบร้อนกลางอก อันเนื่องมาจากการมีกรดมากในกระเพาะอาหาร[1],[2]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาอีโน
ส่วนประกอบของอีโนที่มีฤทธิ์เป็นด่างจะเข้าทำปฏิกิริยากับกรดส่วนเกินในกระเพาะอาหาร จึงทำให้ฤทธิ์ของกรดในกระเพาะเจือจางลงและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายท้องมากขึ้น ส่วนกลไกการเกิดฟองเมื่อละลายผงยาลงไปในน้ำนั้น เกิดจากกลไกของโซเดียมคาร์บอเนตและโซเดียมไบคาร์บอเนตที่เข้าทำปฏิกิริยากับกรดซิตริก ซึ่งจะได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ออกมา ทำให้เกิดเป็นฟองดูน่าสนใจ แต่ฟองก๊าซเหล่านี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ในการรักษาแต่อย่างใด[1]
ก่อนใช้ยาอีโน
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาอีโน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาทุกชนิดที่รวมถึงยาอีโน (Eno) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- การมีโรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาอีโนอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น ด้วยยาอีโนที่มีฤทธิ์ทำให้สภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนไป จึงอาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาต่าง ๆ ในกระเพาะอาหารได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาอีโนพร้อมกับยาอื่น
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังอยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาอีโน
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาอีโนในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคตับ (ยาอีโนเป็นยาประเภทเกลือโซเดียมซึ่งปกติแล้วจะถูกขับออกจากร่างกายทางไต จึงมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตผิดปกติและรวมไปถึงผู้ป่วยโรคตับด้วย ส่วนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนั้นจะต้องจำกัดการรับประทานเกลือโซเดียมอยู่แล้วเพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิต จึงไม่แนะนำให้ใช้เพราะยาอีโนมีส่วนประกอบของเกลือโซเดียม)
- ห้ามใช้ยาอีโนกับผู้ป่วยที่แพทย์สั่งให้จำกัดการรับประทานอาหารรสเค็มหรืออาหารที่มีเกลือโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
- ไม่ควรรับประทานยาอีโนชนิดผงโดยไม่ได้ละลายน้ำก่อน เพราะนอกจากจะทำให้การออกฤทธิ์ได้ไม่ดีแล้วยังก่อให้เกิดผลต่อร่างกายได้ด้วย เนื่องจากผงยาจะดึงเอาน้ำในกระเพาะอาหารและลำไส้มาช่วยละลายตัวยา จึงเกิดการปล่อยแก๊สในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ ส่งผลทำให้เกิดแรงดันจนรู้สึกปวดจุกเสียดขึ้นทันที ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะแจ้งเตือนในเรื่องนี้ก่อนจ่ายยาอีโนให้ผู้ป่วยก่อนเสมอ
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้เพิ่มด้วยตนเอง และห้ามรับประทานยานี้เกินวันละ 6 ซอง (30 กรัม)
- ห้ามรับประทานยาอีโนติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ นอกจากแพทย์สั่ง ผู้ป่วยควรใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์ และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอีโนได้จากเภสัชกรตามร้านขายยาใกล้บ้านได้ทั่วไป
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว เช่น ยาผงที่อยู่ในสภาพชื้น มีกลิ่นเหม็น หรือลักษณะของผงยามีสีเปลี่ยนไปจากเดิม
- การใช้ยาอีโนในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น
วิธีใช้ยาอีโน
- ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ซอง หรือ 1 ช้อนชา (4.3 กรัม) โดยละลายผงยาลงในน้ำเปล่าปริมาณค่อนแก้ว (ประมาณ 150 มิลลิลิตร) แล้วรอจนกว่าตัวยาจะทำปฏิกิริยาในน้ำเสร็จก่อนสักครู่ (หลังหมดฟองฟู่)* แล้วจึงค่อยดื่มยาที่ผสมนั้นให้หมด และสามารถรับประทานยาซ้ำได้อีกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงตามความจำเป็น (ห้ามรับประทานยานี้เกินวันละ 30 กรัม)[1]
- ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนในประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กวัยนี้ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี หรืออาจใช้ได้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์[1]
- บางคำแนะนำระบุว่า ในเด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ½ ของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กอายุ 2-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ⅓ ของขนาดรับประทานในผู้ใหญ่[3]
หมายเหตุ : บางข้อมูลระบุว่า การรับประทานยาอีโนตอนมีฟองฟู่จะช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด แน่นท้อง แต่ถ้ารับประทานทานยาตอนไม่มีฟองจะมีฤทธิ์เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร[2]
คำแนะนำในการใช้ยาอีโน
- ยาอีโนสามารถรับประทานตอนไหนก็ได้ที่มีอาการ และอาหารไม่ได้มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยา (ส่วนใหญ่อาการจะเกิดขึ้นหลังจากการรับประทานอาหาร จึงนิยมรับประทานหลังอาหารเมื่อมีอาการทันที)
- ขนาดการรับประทานและระยะเวลาในการใช้ยาดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งการใช้ยาของแพทย์หรือเภสัชกร การใช้ยาที่เหมาะสมจึงควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอีโนพร้อมกับยาอื่น ๆ (ยาอีโนมีฤทธิ์เป็นด่าง จึงทำให้สภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารเปลี่ยนไป ซึ่งอาจส่งผลต่อการดูดซึมของยาชนิดอื่น ๆ ที่รับประทานเข้าไปพร้อมกันได้) โดยควรรับประทานยาอีโนให้ห่างกับยาอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- หากใช้ยาไปแล้วเป็นเวลา 2-3 วัน อาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อปรับแนวทางในการรักษาต่อไป
- ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังการรับประทานยาอีโน หรือหากมีอาการแพ้ยา เช่น ตัวบวม หายใจลำบาก หายใจไม่ออก อึดอัด ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
การเก็บรักษายาอีโน
- ควรเก็บยาอีโนภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น โดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง หรือบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ (อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์ยาอีโนโดยเฉลี่ยที่ยังมิได้เปิดภาชนะบรรจุออกสามารถดูได้จากรายละเอียดที่ระบุไว้ในฉลากของผลิตภัณฑ์)
เมื่อลืมรับประทานยาอีโน
โดยทั่วไปยาอีโนจะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมรับประทานยาจึงไม่เป็นอันตราย แต่หากต้องรับประทานยาตามกำหนดเวลาแล้วลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาอีโน
- ยาอีโนสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการอันไม่พึงประสงค์ได้เช่นเดียวกับยาอื่น ๆ แต่ใช่ว่าทุกคนรับประทานแล้วจะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น และการรับประทานยาอีโนในขนาดปกติก็ไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ยกเว้นอาการระคายเคืองทางเดินอาหารแบบไม่รุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากลมหรือท้องอืด แต่หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นหลังการรับประทานยาอีโน ควรปรึกษาแพทย์หรือรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
- การรับประทานยาอีโนเกินขนาดจะทำให้ร่างกายมีเกลือโซเดียมเกินในเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว และบางกรณีอาจพบความดันโลหิตสูงร่วมด้วยได้ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
เอกสารอ้างอิง
- หาหมอดอทคอม. “อีโน (Eno)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [16 พ.ย. 2016].
- เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ. “Eno – air x”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th. [16 พ.ย. 2016].
- ThaiRx. “eno [อีโน]”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thairx.com. [16 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)