‘ปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู’ จากต้นแบบฟาร์มสุดยั่งยืน ถึงวันพลิกชีวิตเกษตรกรโคนม

Source: ‘ปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู’ จากต้นแบบฟาร์มสุดยั่งยืน ถึงวันพลิกชีวิตเกษตรกรโคนม

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 – 12:14 น.
FacebookTwitterLINECopy Link

ผู้เขียน ภูษิต ภูมีคำ
‘ปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู’
จากต้นแบบฟาร์มสุดยั่งยืน
ถึงวันพลิกชีวิตเกษตรกรโคนม

ชาวฟาร์มโคนมประสบปัญหาหนัก จากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น และภาวะโลกเดือด จนรายได้
หดหาย ท้อถอดใจเลิกกิจการไปตามกันหลายพื้นที่

สถานการณ์ยิ่งสวนทางกัน ทั้งที่ความต้องการตลาดสูงขึ้น แต่จำนวนผลผลิตจากเกษตรกรในภาพรวมของประเทศกลับลดลง

ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม โดยรวมปีนี้เติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7% แต่แนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบกลับลดลง อีกทั้งหากไม่มีการจัดการฟาร์มอย่างเป็นระบบครบวงจร อุตสาหกรรมโคนมก็ยังเป็นแหล่งของการปล่อย ‘ก๊าซมีเทน’ ได้อีกด้วย

เสียงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งไปถึงพาร์ตคนสำคัญของชาวฟาร์มโคนมอย่าง บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จนเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมชูกุญแจสู่ทางออกด้วยแนวคิด “การเกษตรเชิงฟื้นฟู” ที่นับได้ว่าเป็นโมเดลความยั่งยืนของการทำฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมดิบ ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม

ตามรอยเจตนารมณ์ของบริษัทแม่อย่าง เนสท์เล่ ซึ่งเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำระดับโลก ที่ถือว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุมกว่า 188 ประเทศทั่วโลก ดำเนินงานมากว่า 150 ปี ที่ยังคงมุ่งผลักดัน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ดีเพื่อผู้บริโภคและสิ่งดีๆ เพื่อโลกของเราทุกคน ทั้งในวันนี้และในอนาคต…

(จากซ้าย) ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ, สลิลลา สีหพันธุ์ และ วรวัฒน์ เวียงแก้ว
⦁40 ปีเพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งส่งเสริมฟาร์มโค เติบโตยั่งยืน

สลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เริ่มตั้งต้นเล่าว่า ‘น้ำนมดิบ’ ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ ในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่างๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไมโล ตราหมี และเนสกาแฟ เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Sourcing) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“เราได้ดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในแผนงานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050

ตอนนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่น้ำนมดิบที่เนสท์เล่ใช้ผ่านมาตรฐานด้านการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนครบ 100 แล้ว เราก็จะยังคงเดินหน้าในการส่งต่อสิ่งดีๆ สู่มือผู้บริโภคเพื่อให้มั่นใจว่าเรามีผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร” สลิลลาเผยความตั้งใจ

จากนั้นสลิลลาเล่าถึงโมเดลฟาร์มโคนมต้นแบบว่า เราเน้น ปกป้อง-ทดแทน-ฟื้นฟู อุตสาหกรรมฟาร์มโคนมเป็นแหล่งของการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 26 เท่า

“เนสท์เล่ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมนมในประเทศไทย โดยส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ที่มุ่งเน้นการปกป้อง ทดแทน และฟื้นฟู

โดยเฉพาะการปกป้องและฟื้นฟูดิน ที่เป็นแหล่งปลูกอาหารวัวให้มีความสมบูรณ์ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้น ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีด้วยการใช้มูลวัวตากแห้งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลด
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในแปลงปลูกและทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย” สลิลลาเน้นย้ำวิสัยทัศน์

เครื่องร่อนมูลไส้เดือน ผลิตภัณฑ์สร้างรายได้สุดปัง ซึ่งเป็นการต่อยอดเพิ่มเติมจากการขายเพียงแค่มูลโค
⦁เนสท์เล่ ช่วยคุมทุนผลิต ดันรายได้-พลิกชีวิตเกษตรกร

หันมาฟังเสียงจากชาวบ้าน วรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า เมื่อก่อนปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เรียกได้ว่า รายได้ต่ำเลยล่ะ เพราะต้องบอกว่าในพื้นที่ของเราตรงนี้ มันไม่ได้มีชลประทาน ซึ่งการจะให้มันได้ผลผลิตดีแบบที่อื่นมันยาก

“บางคนเขาหันมาปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังแทน ซึ่งเรื่องราคามันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างปีนี้มันสำปะหลังราคากิโลกรัมละ 2-3 บาทเท่านั้น หรืออ้อยก็ราคาผันผวนตามความต้องการ ปีไหนเขาต้องการมากก็ราคาสูง ปีไหนเขาต้องการน้อย หรือคนปลูกเยอะๆ แบบนี้ ราคาก็ตก

จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนที่เนสท์เล่เข้ามาช่วย ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยให้วัวกินฟางกับอาหารข้น ลองมาเปลี่ยนเป็นหญ้าไหม ปลูกเองเลยอะไรแบบนี้ พอเปลี่ยนมาก็เห็นผลทันทีเลย จากที่เราขายน้ำนมได้ 100 บาท วัวแบ่งให้เรา 10-20 บาท แต่ทุกวันนี้ถ้าเราขายได้ 100 บาท วัวก็แบ่งให้เรา 50 บาทแล้ว เห็นผลทันตาเลย

เรียกได้ว่า เรากล้าเสี่ยงที่เลิกจากการปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลังที่เคยเป็นอาชีพหลักมาเลี้ยงวัวนม ซึ่งตอนนี้คนที่เขาเลี้ยงอยู่แถวนี้ 4-5 ฟาร์ม เขาเลิกเลี้ยงกันไปเพราะราคาอาหารสัตว์สูงขึ้น แต่เรามีความกล้า และเราตั้งใจทำให้ครอบครัวเห็นว่าจะสามารถไปต่อได้แน่ๆ

เช่น ราคาอาหารข้นที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยภายนอกที่เราคุมไม่ได้ เราเน้นอาหารหยาบที่เราสามารถควบคุมได้เอง ยิ่งพอเนสท์เล่ยื่นมือเข้ามาช่วยให้ความรู้ด้านอาหารสัตว์ มันยิ่งดีขึ้นไปอีก

อย่างเมื่อก่อน ตอนที่เราปลูกอ้อยอยู่ ถ้าเราอยากจะซื้อรถมอเตอร์ไซค์สักคันหนึ่ง มองตากันแล้วมองตากันอีก ตอนนี้บอกเลยว่า เดือนเดียวผมซื้อมอเตอร์ไซค์ได้แล้ว ยิ่งเราได้อยู่กับครอบครัว และเราได้อยู่บ้านเราเอง เราได้อยู่บ้านดูแลพ่อแม่ หรือส่งลูกให้เขาได้เรียนโรงเรียนที่อยากเรียนได้มันยิ่งดีเลย” เจ้าของฟาร์มต้นแบบทิ้งท้าย

แปลงพืชหลากชนิด (multispecies) เช่น หญ้ามูลาโต้ ถั่วสไตโล เน้นเสิร์ฟโคนมพันธุ์ดีเพื่อเสริมโปรตีนชั้นเลิศ และรักษาความแน่นของผิวดิน
⦁ชูโมเดลเกษตรเชิงฟื้นฟู หนุนอยู่ได้อย่างมีความสุข

จากนั้นหันมาลงลึกข้อมูลแบบแน่นตึ้บจาก ศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ นักวิชาการเกษตร บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ผู้ขลุกตัวใกล้ชิดกับเกษตรกร เปิดเผยว่า เนสท์เล่เป็นเจ้าแรกที่นำการเกษตรเชิงฟื้นฟูเข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟูมุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนะ 2.การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

“เราแนะนำให้เกษตรกรทำแปลงหญ้าผสมถั่วหลากหลายชนิด เพื่อเป็นแปลงหญ้าอาหาร และเป็นการเสริมสารอาหารประเภทโปรตีนให้กับแม่โค ส่งผลให้ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก.ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก.ต่อตัวต่อวัน แล้วคุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น

วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งการที่ระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3% บ่งบอกถึงสุขภาพของแม่โคที่สมบูรณ์ และยังเป็นการเพิ่มโภชนาการที่มีประโยชน์ให้กับผู้บริโภคอีกด้วย พร้อมกับปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรดิน และสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม” ศิรวัจน์กางตัวเลข

แผงโซลาร์เซลล์ สร้างไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แทนการซื้อไฟฟ้า เรียกได้ว่า รันด้วยพลังงานสะอาดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
ศิรวัจน์กล่าวอีกว่า เรามุ่งที่สร้างมาตรฐานการทำฟาร์มก่อน ใครที่ยังไม่ได้มาตรฐานส่งเนสท์เล่ไม่ได้ พอฟาร์มทำได้มาตรฐานปุ๊บ เราก็รับซื้อกันอย่างต่อเนื่อง 35 ปีแล้ว รถขนนมจากสหกรณ์วิ่งทุกวัน และเราให้ราคาที่เป็นธรรม เพราะเรายึดตามคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ที่ผ่านการคำนวณต้นทุนและรายได้หมดแล้ว

นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังส่งเสริมให้เกษตรกรจัดการมูลโคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำไปตากแห้ง เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และบางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก สร้างแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกร เปลี่ยนจาก “มูลโคสู่มูลค่า” สร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาท ต่อปี

“เราพยายามให้คนรุ่นใหม่ ลูกหลานเกษตรกรสานต่ออาชีพนี้ โดยปีหน้าเราก็จะมีการประเมิน Living Income เราตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิที่สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข เข้าถึงความต้องการพื้นฐาน รถ บ้าน ส่งลูกเรียน เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีได้ ก็เป็นโปรเจ็กต์ของเราต่อไป” นักวิชาการเนสท์เล่ผลักดันแบบเต็มข้อ… อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_4926145

Leave a Reply

The maximum upload file size: 500 MB. You can upload: image, audio, video, document, spreadsheet, interactive, other. Links to YouTube, Facebook, Twitter and other services inserted in the comment text will be automatically embedded. Drop file here